ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต กล่าวในรายการริงไซด์นิวส์ ถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า หลายฝ่ายจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ในวันที่ 23-24 กรกฏาคม 2561 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีการมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเปิดโอกาสให้กับกลุ่มการเมืองมีการเคลื่อนไหว รวมทั้งข่าวการทาบทามนักการเมืองให้ไปร่วมงานกับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน คสช.โดยมีการใช้คำว่า “ดูด”
การเคลื่อนไหวของพลเอกประยุทธ์และคณะ ที่อุบลราชธานีนั้น ในทางการการเมืองนั้นถือว่าเป็นการเคลือนไหวที่น่าจับตามอง เพราะในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยสามารครองเก้าอี้ ส.ส.รวมทั้งสิ้น 7 จาก 10 ที่นั่ง ดังนั้น พอมีกระแสการย้ายพรรคของอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า นายสุพล ฟองงาม อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ที่มีแนวโน้มว่าจะไปอยู่กับกลุ่มสามมิตร
ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงกรณีการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ในจังหวัดอุบลราชธานีว่า เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะท่าทีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ชัดเจนว่าจะสู้ต่อหรือไม่ต่อสู้ทางการเมือง ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีหัวหน้าพรรค ทำให้เกิดความลังเลใจ
แต่กระนั้นก็ตามในพื้นที่อีสานยังเป็นฐานที่มั่นของของกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งอาจจะเจาะยากหน่อย ในขณะเดียวกันในพื้นที่อีสานที่ผ่านมาพบว่าที่ผ่านมาอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่มีการทำงานพื้นที่ต่อเนื่อง และที่สำคัญคือความไม่มีเอกภาพของ ส.ส.ในพื้นที่ รวมทั้งการขัดกันของแกนนำ ส.ส.ในพื้นที่ โดยเฉพาะอุบลราชธานี ที่มีหลายกลุ่มการเมือง ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่นี้มาก เพราะเป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มการเมืองที่มีความขัดแย้งกันชัดเจนคือ กลุ่มนายสุพล ฟองงาม กลุ่มนายเกรียง กัลปินันท์ และกลุ่มพลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิตย์ ก็ยังไม่ลงตัวกัน ทำให้เกิดการขัดแย้งและเปิดให้กลุ่มการเมืองอื่นเข้าไปแทรกได้
ขณะที่ ผศ.วันวิชิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของกลุ่มสามมิตร ที่ถูกจับตามองว่า หาก คสช.ปลดล็อกเมื่อไหร่ เกรงว่าบรรดาอดีต ส.ส.ที่เคยมีข่าวว่าจะมาร่วมงานกันก็อาจจะหนีกลับไปอยู่กับพรรคเก่าได้ รวมทั้งกรณีกระแสข่าวที่ว่ากลุ่มสามมิตรอาจจะแยกตัวจากพรรคพลังประชารัฐมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ขเพราะหวั่นว่าหากยังอยู่กับพลังประชารัฐอาจจะเสียโอกาสทางการเมืองได้ เพราะกระแสประชาชนไม่เอาทหารเริ่มดังขึ้น
ดังนั้น อาจจะมีการปรับแผนใช้รูปแบบแยกกันเดิน รวมกันตี โดยเปิดสูตรการเมืองใหม่ ใช้หลายพรรคเพื่อดึงคะแนนปาตี้ลิสต์ รวมทั้งตัดเสียงของพรรคเพื่อไทยด้วย ในขณะเดียวกันถ้ามองในมุมของการเมือง เชื่อว่าแกนนำกลุ่มสามมิตรกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะยังอยู่กับพลังประชารัฐหรือจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะการเดินเกมการเมืองทั้งสองแบบ มีความได้เปรียบและเสียเปรียบต่างกัน
ในส่วนของการเลือกตั้งที่จะถึงนั้น เชื่อว่าพรรคอันดับ 1-5 จะเป็นพรรคเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ที่จะมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ที่ยังคงมีฐานเสียงในพื้นที่ รวมไปถึงพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ น่าจะมีโอกาสมี ส.ส.ลดหลั่นกันไป
นอกจากนี้ เชื่อว่ามีขบวนการที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้านจะทำงานอย่างเข้มข้นในการทำให้เพื่อไทยไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง นอกจากนี้แล้ว ยังอาจเจอปัญหาความลังเลใจของมวลชน กับการขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทยและจุดยืนของกลุ่ม นปช.ด้วย