เรื่องขยะ เรื่องใหญ่ รู้หรือไม่คนไทยผลิตขยะพิษเพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วง กำจัดได้ไม่ถึงครึ่ง ขยะพิษอันตรายต้องกำจัดอย่างพิเศษ แต่โรงงานกำจัดถูกกฎหมายได้มาตรฐานยังมีน้อย แถมยังมีธุรกิจสีเทาลักลอบทิ้งหรือกำจัดโดยไม่ถูกต้อง ทีดีอาร์ไอแนะควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความรู้และเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น ควบคู่กับปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะและเพิ่มการกำกับดูแลให้เข้มข้น เพื่อ “โละ” ธุรกิจผิดกฎหมาย ส่งเสริมการขจัดขยะพิษ ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และสำคัญที่สุดคนไทยต้องตระหนักและช่วยกันลดพฤติกรรมการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น และสร้างพฤติกรรมคัดแยกขยะก่อนทิ้ง
จากสถานการณ์ การตรวจจับโรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์พิษ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา เข้าตรวจโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีทั้งหมด 7 โรงงาน พบโรงงานที่มีกิจการการคัดแยก รีไซเคิล และกำจัดผิดกฎหมาย ถึง 5 โรงงาน การตรวจจับครั้งใหญ่นี้เป็นผลจากการขยายผลจับ จากผู้ร้องเรียนมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะทำให้เกิดควันและมลพิษบริเวณโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัด ฉะเชิงเทรา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมศุลกากรออกมาเผยว่า ตั้งแต่ที่จีนมีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมาทำให้ขยะจากทั่วโลกจำเป็นต้องหาช่องทางการกำจัดในประเทศอื่น จากสถิติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2560 พบว่ามีการนำเข้า 7 หมื่นตัน แต่ในครึ่งแรกของปี 2561 พบว่ามีการนำเข้ามาแล้วมากผิดปรกติเป็นจำนวนกว่าแสนตัน
ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและระงับการอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้นำเข้าจำนวน 5 ราย ที่พบการกระทำผิด และออกประกาศ ชะลอการพิจารณาอนุญาตซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร และกำลังเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งห้ามโรงงานใช้วัตถุดิบที่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต
น.ส.กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขยะพิษของประเทศไทย โดยระบุว่า ปัญหาขยะของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะตามข่าวที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาขยะพิษอื่นๆ ที่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด
ขยะพิษเกิดขึ้นจากกิจกรรมหลัก 2 ประเภท คือ ขยะครัวเรือน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระป๋องสเปรย์ และขยะจากภาคอุตสาหกรรม (การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมารีไซเคิลถือเป็นกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม) ขยะพิษจากทั้งสองแหล่ง ต้องได้รับการกำจัดจากโรงงานกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาตและมาตรฐาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่สถานการณ์และประเด็นปัญหาการกำจัดขยะพิษในประเทศไทยในขณะนี้ คือ วงจรการกำจัดขยะพิษที่เกิดจากภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมไปไม่ถึงโรงงานที่สามารถกำจัดได้อย่างถูกต้อง
กรณี ขยะครัวเรือน มีปัญหาเรื่องการกระบวนการจัดการเพื่อนำไปกำจัด จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2559 คนไทยผลิตขยะพิษจากบ้านเรือนทั้งหมด 6 แสนตัน ประกอบไปด้วย อิเล็กทรอนิกส์ 65% และขยะอันตรายอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ 35% ขยะเหล่านี้มีสารอันตรายเป็นองค์ประกอบอยู่ เช่น ปรอท ตะกั่ว และสารหนู ต้องมีการกำจัดถูกต้องถูกวิธีในโรงงานกำจัดขยะอันตราย แม้มีกฎหมายสาธารณสุขที่ให้อำนาจ ส่วนราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ในการกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล แต่กฎหมายไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดแยกและกำจัดขยะที่เป็นระบบ ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีการแยกขยะก่อนทิ้ง ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่านำขยะอันตรายมาคัดแยกและขายส่วนที่มีมูลค่า ทำให้ขยะเหล่านี้ไม่สามารถติดตามได้ว่าถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่ กระบวนการคัดแยกและการกำจัดขยะพิษที่เหลือจากการคัดแยกส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ดำเนินการสำรวจการปนเปื้อนของสารพิษจากการคัดแยกขยะของชุมชนแยกขยะขนาดใหญ่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ พบสารหนู ตะกั่ว เกินค่ามาตรฐาน ในบริเวณที่เผาขยะกลางแจ้งจากการแยกชิ้นส่วนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ (รายงาน TDRI: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย 2016)
ส่วนขยะในภาคอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรมอันตรายนั้น พบว่า เกิดปัญหาโรงงานลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม แม้มีกฎหมายโรงงาน และกฎหมายวัตถุอันตราย ให้อำนาจแก่ กรอ. ในการกำกับดูแลโรงงานในภาคอุตสาหกรรม กฎหมายกำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดขยะ หรือ Waste Generator ต้อง ขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานเพื่อนำไปกำจัด (สก.2) โดยในรายงานจะต้องระบุจำนวนขยะที่นำไปกำจัด ผู้ขนส่ง และโรงงานรับกำจัดที่มีใบอนุญาตจาก กรอ. แต่จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ในปี2559 ประเทศไทยผลิตกากอุตสาหกรรมอันตรายออกมา 2.8 ล้านตัน พบว่ามีผู้ขออนุญาตตามแบบ สก.2 หรือนำไปกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 40% เท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 1.6 ล้านตัน คือขยะพิษที่ไม่มีการขออนุญาตนำไปกำจัด และอาจเข้าสู่กระบวนการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมาย เช่น บริษัทลักลอบรับกำจัดขยะทุกประเภทด้วยต้นทุนต่ำ แต่เป็นการรับขยะมาแล้วไม่นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง อาทิ ขยะอันตรายไปฝังกลบในหลุมฝังกลบขยะไม่อันตราย และนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่ง กรอ ไม่มีการเปิดเผยว่ามีโรงงานใดบ้างที่ไม่ได้สำแดงขยะในจำนวนนี้ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการติดตามและดำเนินคดีตามกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าขยะอันตรายเหล่านั้น ถูกนำไปกำจัดอย่างไรและผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมายทั้งหมดหรือไม่
จากการที่การจัดการกากอุตสาหกรรมประสบปัญหาการลักลอบทิ้งและกำจัดผิดกฎหมาย ไม่แปลกเลยที่ โรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย หรือ ขยะพิษ ซึ่งมีจำนวนน้อยรายในตลาด พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถกำจัดขยะพิษที่สามารถกำจัดสารพิษได้ทุกประเภทเพียง 4 โรงงานเท่านั้น โดย มี 3 โรงงาน ฝังกลบ และ 1 โรงงาน ที่ได้รับอนุญาตให้เผาอันตรายโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาเฉพาะ ที่เหลือเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีประเภทการเผาโดยใช้เตาปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถเผาขยะพิษได้บางประเภท เตาเผาขยะไม่อันตราย และโรงงานฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย เป็นต้น ซึ่งการมีผู้ประกอบการโรงงานกำจัดขยะพิษในตลาดน้อยรายอาจทำให้เกิดการกำหนดราคาและผูกขาดตลาดได้
เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนในการกำจัดขยะอันตราย ทีมวิจัยได้ศึกษาราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายของบริษัทรับเผากากอุตสาหกรรมอันตราย ด้วยเตาเผาเฉพาะ พบว่า ขยะอันตราย 1 ตัน มีต้นทุนราคาการกำจัดสูงตั้งแต่ 4,000-5,000 บาท ไปจนถึง 150,000 บาทนอกจากนี้ราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด สวนทางกับโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน โดยกำหนดค่าปรับสูงสุดไว้ 200,000 บาท และจำคุกไปเกิน 2 ปี อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบปรับในราคาต่ำกว่าโทษปรับสูงสุดที่กฎหมายกำหนดได้ จึงเป็นข้อสังเกตว่าทำไมจึงมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอยู่
นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แค่ขยะที่ผลิตกันเองในประเทศยังไม่มีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถรับจัดการขยะจากประเทศอื่น (นำเข้าขยะ) ตามที่เป็นข่าว ไทยไม่ควรเป็นถังขยะให้ใคร หากประเทศไทยต้องการแก้ปัญหาขยะพิษ ให้เกิดขึ้นจริง จะต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 เรื่อง ดังนี้
1) แก้ปัญหาการจัดการขยะพิษจากครัวเรือน โดยสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอย ให้แก่ส่วนราชการท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยตามกฎหมาย และผลักดันกฎหมาย “ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments)” ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับคืนซากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัด ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ววัน เพราะการรณรงค์หรือการขอความร่วมมือเป็นครั้งคราวยังไม่เพียงพอ ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการแยกขยะครัวเรือน และมาตรฐานการจัดการขยะของหน่วยงานทรับผิดชอบในการรวบรวม นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท และบางประเภทผู้ใช้หรือครัวเรือนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการกำจัดร่วมกับผู้ผลิต
2) แก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยต้องมีการปรับปรุงการกำกับดูแลให้ดีขึ้น เริ่มจาก กรอ ควรเปิดเผยข้อมูลปริมาณการขออนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรมต่อสาธารณะ มีความโปร่งใสในการตรวจจับโรงงานที่ไม่ถูกต้อง และมีมาตรการในการยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทที่กระทำผิดชัดเจนและจะต้องเพิ่มโทษปรับ ในระยะยาวต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลตามกฎหมาย เนื่องจาก กรอ. ทำหน้าที่้เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านมลพิษอุตสาหกรรม อาจทำให้การกำกับดูแลไม่เป็นกลาง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลมาตรฐานมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม คือ หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Protection Agency (EPA)
3) เมื่อประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษครัวเรือน และการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการพร้อมการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากหากมีขยะพิษและขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกหลักเพิ่มขึ้น จะทำให้โรงงานรับกำจัดขยะอันตรายที่มีอยู่น้อยรายในตลาดถือโอกาสเพิ่มราคาการกำจัด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ กำลังการกำจัดขยะอันตราย อาจไม่เพียงพอกับขยะที่จะเข้ามาในระบบกว่าเท่าตัว
ต้นเหตุของขยะส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของเรา การไม่คัดแยกขยะ ทิ้งขยะพิษรวมกับขยะมูลฝอย ไม่สามารถกำกับดูแลและจัดการขยะครัวเรือนได้ รวมถึงการผลิตขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมในแต่ละวัน รัฐต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปการกำจัดขยะของประเทศ ออกกฎหมาย และแคมเปญรณรงค์อย่างยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนตระหนักเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะจากครัวเรือน และแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายให้ได้ เพราะแม้เราสามารถห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากขยะพิษที่ทับถมภายในประเทศไม่สามารถกำจัดอย่าง “หมดจด” ประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาพมลพิษล้นประเทศได้ในอนาคต