หนึ่งในอภิมหาโครงการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่ต้องปักเสาวางรางในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ชื่อว่าเป็นปฐมรัฐบาลในการก่อสร้างต่อยอดเป็นผลงานการเมือง สืบไปจนชั่วลูกชั่วหลาน เพราะเป็นความปราถนาของคนไทย ที่อยากสัมผัสบริการของรถไฟความเร็วสูง สักครั้งในชีวิต
ล่าสุด มาแน่กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพ – โคราช เพราะเปิดซองประมูลกันไปแล้ว ตามด้วยเส้นทางเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ที่ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป ไหนจะสายกรุงเทพ – เชียงใหม่ ที่กำลังเร่งเจรจากันอยู่ คนไทยน่าจะทันใช้บริการในชาตินี้
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลคือเรื่องของ “จุดคุ้มทุน”
โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย – จีน หาใช่เป็นการร่วมทุนระหว่าง 2 ชาติ ทว่าเป็นการลงทุนของไทยเพียงฝ่ายเดียว เพียงแต่พึ่งพาเทคโนโลยีจากจีนเป็นหลัก
เหตุผลที่ฝ่ายไทยตัดสินใจลงทุนเอง 100% คากันว่า เพราะฝ่ายไทยต้องการเป็นเจ้าของโครงการโดยสมบูรณ์ ทำให้สามารถคุมนโยบายได้เต็มที่ แลกกับความเสี่ยงแบกรับภาระขาดทุนของโครงการมากขึ้น
ทั้งนี้ ผลการศึกษาโครงการรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ใช้งบในการลงทุนรวม 1.8 แสนล้านบาท ผลตอบแทน ในการลงทุนส่วนของรถไฟจะอยู่ที่ร้อยละ 0 ขณะที่ผลตอบแทนโครงการพัฒนาพื้นที่ รอบสถานีที่ระบุไว้ 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่องและนครราชสีมา ร้อยละ 8 รวมหมดจะมีผลตอบแทนร้อยละ 2.56
ซึ่งน้อยกว่าเงื่อนไขที่สภาพัฒน์กำหนดไว้ ที่ผลตอบแทนต้องมากกว่า 12%
ชัดเจนว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายนี้เสี่ยงที่จะ “เจ๊ง”
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตว่า
หากทำไปถึงโคราช คาดว่ามีผู้โดยสารใช้งานไม่ถึง 1 หมื่นคนต่อวัน เฉลี่ยปีละ 3.6 ล้านคน เก็บค่าโดยสารคนละ 500 บาทจะได้รายได้จากค่าโดยสารปีละประมาณ 1,800 ล้านบาท แต่ถ้าต้องกู้เงิน 1.8 แสนล้านบาทตามมูลค่าโครงการ มาใช้ในการก่อสร้าง โดยมีดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี นั่นคือจะต้องเสียดอกเบี้ยปีละประมาณ 4,500 ล้านบาทแต่เก็บรายได้แค่ 1,800 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลจะต้องแบกภาระควักกระเป๋าอีก 2,700 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าบริหารจัดการ ซ่อมแซมอีกปีละเป็นพันล้านบาท”
คุ้มหรือไม่ ประชาชนให้คำตอบได้
Ringsideการเมือง