เเหล่งข่าวระดับสูงได้เปิดเผยถึงการเดินหน้าเลือกประธาน กกต.โดยที่ยังได้ว่าที่ กกต.ไม่ครบ 7 คน อาจขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมาย เนื่องจาก ตาม พ.ร.ป.กกต.มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา…” ซึ่งทั้ง 7 คน จะต้องผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาและผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งถึงวรรคแปด ดังนั้น การที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งครั้งแรก จึงน่าจะต้องมีว่าที่กรรมการให้ครบ 7 คน ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.ป.กกต. ก่อน ซึ่งเป็นบทบัญญัติหลักในทุกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ด้วย
ส่วนที่อ้างว่ามาตรา 12 วรรค 9 ของ พ.ร.ป.กกต. เปิดช่องให้ 5 ว่าที่ กกต.เลือกประธาน กกต.ได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัตินี้จะใช้ได้ต้องเป็นกรณีที่ประธาน กกต.ที่ได้รับการโปรดเกล้าและทำหน้าที่แล้วพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ ซึ่งต้องมีจำนวนถึง 5 คน เลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธาน กกต. แล้วแจ้งให้วุฒิสภาทราบ แต่ถ้ามีกรรมการเหลือไม่ถึง 5 คน ก็ต้องสรรหาหรือคัดเลือกให้ได้ถึง 5 คนก่อน แล้วจึงเลือกคนหนึ่งเป็นประธาน กกต. บทบัญญัติดังกล่าวนี้เพื่อเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น ก่อนหน้านี้ ที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกประเด็นข้อกฎหมาย มาตรา 12 ขึ้นอ้าง เมื่อนำมาพิจารณาประกอบข้อกฎหมายมาตรา 8 ดังกล่าวแล้ว การจะเลือกประธานกกต.ได้จะต้องมีว่าที่ กกต.ครบ 7 คนเสียก่อน จึงจะชอบด้วยเหตุผลเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวในเรื่องเดียวกัน ว่า ทาง กรธ.จะส่งตัวแทนชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกประธาน กกต.ในที่ประชุมวิป สนช.วันนี้ (31 ก.ค.) แต่ไม่ได้ส่งตัวแทนไปชี้แจงในที่ประชุมว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน โดยยืนยันว่า ไม่มีปัญหาที่ว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน จะเลือกประธาน กกต.โดยไม่รอให้ครบ 7 คน เพราะตามกฎหมายเขียนชัดเจนอยู่แล้วว่าสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่มี 7 คนจากทั้งหมด 9 คน ก็สามารถเลือกประธานได้
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกประธาน กกต. คนใหม่จาก กกต. ที่ผ่านการสรรหา และการเลือก กกต. จำนวน 5 คน ของ สนช. ว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ออกมาจาก สนช. ว่าจะเลื่อนการเลือกประธาน กกต.อยากให้คณะกรรมการสรรหา กกต. และผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกประธาน กกต. คนใหม่พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบว่าควรเดินหน้าเลือกประธาน กกต. ไปเลยในวันพรุ่งนี้ หรือ ชะลอการเลือกประธาน กกต. ออกไปก่อน ถึงแม้ สนช. จะยืนยันว่าทำได้แต่ก็มีมุมมองที่ต่างออกไปว่าการเลือกตั้งประธาน กกต. ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ อาจผิดมาตรา 12 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เพราะยังเลือกไม่ครบ 7 คน
นายองอาจ กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการการสรรหา กกต. และ การเลือกประธาน กกต.เป็นไปด้วยความถูกต้องสมบูรณ์รอบคอบมากที่สุด ไม่มีข้อครหาใดๆ ควรชะลอการเลือกประธาน กกต. ออกไปก่อนแล้วดำเนินการสรรหา กกต. ให้ครบ 7 คนจากนั้นจึงเลือกประธาน กกต. คนใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ กกต. ทั้ง 7 คน ใช้ดุลพินิจตัดสินใจร่วมกันว่าใครเหมาะสมทำหน้าที่ประธาน กกต. คนใหม่ เพราะการชะลอการเลือกประธาน กกต. คนใหม่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ กกต. แต่อย่างใด เพราะ กกต. ชุดปัจจุบันสามารถทำงานตามอำนาจหน้าที่ได้ทุกอย่าง จนกว่าจะมี กกต. ชุดใหม่มาทำงานต่อไป
เพราะฉะนั้นการทำให้ถูกต้องสมบูรณ์ไม่มีข้อครหาใด ๆ จึงน่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติในระยะยาว จึงขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประธาน สนช. พิจารณาการเลือกประธาน กกต. ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ตามมาอีกต่อไป