หน้าแรก news ธ.ก.ส.ขยายเวลาชำระหนี้-ลดดอกเบี้ย ให้เกษตรกร ลุยปรับโครงสร้างหนี้ให้ ชาวไร่ ชาวสวนผลไม้ หลังราคาตกต่ำ

ธ.ก.ส.ขยายเวลาชำระหนี้-ลดดอกเบี้ย ให้เกษตรกร ลุยปรับโครงสร้างหนี้ให้ ชาวไร่ ชาวสวนผลไม้ หลังราคาตกต่ำ

0
ธ.ก.ส.ขยายเวลาชำระหนี้-ลดดอกเบี้ย ให้เกษตรกร  ลุยปรับโครงสร้างหนี้ให้ ชาวไร่ ชาวสวนผลไม้ หลังราคาตกต่ำ
Sharing

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรแก่เกษตรกรและให้เกษตรกรสามารถกลับมาฟื้นฟูตนเอง ทั้งการประกอบอาชีพและสร้างรายได้นั้น จึงได้ออกโครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีเงินกู้คงเหลือ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 โดยขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 จนถึง 31 กรกฎาคม 2564 ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ชำระตามกำหนดเดิม

ส่วนโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร สำหรับต้นเงินกู้ 3 แสนบาทแรก ลดดอกเบี้ยลงในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ภายใต้วงเงินช่วยเหลือ 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามในวันที่ 1-9 สิงหาคมนี้ หากเกษตรกรได้รับหนังสือแจ้งหนี้แล้ว ทางธนาคารจะยังคงคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิม และจะเริ่มคืนดอกเบี้ยส่วนต่างที่ ครม.อนุมัติให้แก่เกษตรกรในวันที่ 10 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 พนักงาน ธ.ก.ส. จะออกใบนัดหมายและพบปะเกษตรกร เพื่อชี้แจงรายละเอียด หากมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการให้ลงชื่อแต่ละพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งหากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลาชำระหนี้ แต่จะยังได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ในช่วงระหว่างการขยายเวลาชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปสนับสนุนแผนการพัฒนาอาชีพรายบุคคล เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 3.81 ล้านราย และเกษตรกรกว่าครึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตนเองได้

นอกจากนี้ที่ผ่านมาทางธนาคารมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ ให้กับชาวสวน ชาวไร่ผลไม้ โดยเฉพาะสับปะรด เช่น ลำปาง เชียงใหม่ ประสบปัญหาราคาตกต่ำจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก รองลงมาคือ มะนาว ส่วนกล้วยที่มีการเพาะปลูกกันจำนวนมากทำให้ราคาปรับลดลง รวมถึงมังคุดในภาคตะวันออก แม้จะมีราคาดีแต่ผลผลิตออกมาน้อย ทำให้ชาวสวนมีปัญหาการผ่อนชำระ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้ สาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เข้าไปช่วยดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่มีการดูแลจนค้างผ่อนชำระเกิน 3 เดือน ลูกค้ากลุ่มนี้จะกลายเป็นหนี้เสียทันที และทำให้ธนาคารมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มเป็นก้าวกระโดดจากร้อยละ 4.29 ในสิ้นเดือน มี.ค. 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 6 ส่งผลเสียต่อทั้งลูกค้าและเป็นภาระธนาคารให้มีการตั้งสำรองสูงขึ้น ระหว่างนี้ต้องเร่งแก้ไข หากเกษตรกรประสบปัญหาก็เข้ามาติดต่อที่สาขาธนาคารได้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าเมื่อปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้กลุ่มนี้แล้ว จะช่วยยับยั้งการเป็นหนี้เสียได้ถึง 60% หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 18,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 12,000 ล้านบาทนั้น จะไหลเข้ามาสู่กลุ่มหนี้เสีย แต่เมื่อผสมกับการแก้หนี้เสียก้อนเก่าช่วงเดือน เม.ย.มิ.ย. ที่ปรับลดลงไป 1 หมื่นกว่าล้านบาทจะทำให้ภาพรวมเอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส. ในไตรมาสแรกปีบัญชี (เม.ย.-มิ.ย.) ยังทรงตัวระดับเดิมหรือใกล้เคียงกับยอดสิ้นปีบัญชีร้อยละ 4 ซึ่งไม่น่าห่วง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่