นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. เรื่องของการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ว่า
กระบวนการการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง กกต. และสำนักงาน กกต.ได้เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเดือนเมษายน 2561 แล้ว เนื่องจากคาดว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้ามาพิจารณาได้ภายในช่วงดังกล่าว แต่ว่าที่ กกต.ชุดนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ดังนั้นเราก็จะต้องพิจารณาว่าระยะเวลาที่จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการการเลือกตั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งการคัดเลือก การแต่งตั้ง การประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งอบรมความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งเรื่องประกาศระเบียบที่เกี่ยวข้องหลาย 10 ฉบับ เพื่อให้มีความรู้เรื่องกฎหมาย เพราะการทำงานผู้ตรวจการการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เสี่ยง มีโอกาสผิดพลาดจนถูกดำเนินคดีเยอะพอสมควร การที่ กกต.คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้ภายในเดือนกันยายน จะเป็นช่วงจังหวะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.มีผลบังคับใช้
“ไม่ใช่ว่า กกต.ชุดปัจจุบันรีบแต่งตั้ง แต่เป็นกระบวนการที่เราจะต้องรีบทำ หาก พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.มีผลบังคับใช้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องทำงานทันที และหาก กกต.ชุดนี้ไม่ได้แต่งตั้งไว้ ก็จะมีปัญหา ถ้าไม่ทำไว้แล้วเกิดปัญหา กกต.ชุดนี้จะโดนถล่มหนักเลยว่า ทำไมไม่จัดการให้เรียบร้อย” นายบุญส่งกล่าว
เมื่อถามว่ามีการอ้างเหตุผลว่าโครงสร้างการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งอาจถูกแทรกแซงได้จากทางการเมือง นายบุญส่งกล่าวว่า คิดว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ เพราะหากผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แล้วไม่เป็นกลาง ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต มีอคติ หรือมีคนมาร้องคัดค้าน กกต.ก็สามารถปลดออกจากตำแหน่งได้ทันที แม้ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมาจากการคัดเลือกของ กกต.ชุดปัจจุบันก็ตาม
เมื่อถามว่า กกต.จะมีการทบทวนสิ่งที่ดำเนินการมาแล้วหรือไม่ นายบุญส่งกล่าวว่า “มันทบทวนได้ที่ไหน หมดงบประมาณไปก็เยอะแล้ว ทำมาโดยชอบตามระเบียบตามกติกาทั้งหมด”
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งว่ามีความประสงค์ที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง
นายพรเพชร กล่าวว่า เหตุผลที่สมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งต้องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการไปกำหนดให้กกต.สามารถออกระเบียบเพื่อเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้นั้นอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงคิดว่าควรบัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อให้เกิดความแน่นอน เพราะเมื่อกกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้วก็อาจจะมีการแก้ไขระเบียบอีก
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สนช. สามารถแก้กฎหมายได้ ยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจากรัฐบาล เมื่อถามว่า ในเรื่องของการเพิ่มคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทำอย่างไรนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ตนเข้าใจว่าคงไม่ได้แก้คุณสมบัติ อาจแก้ไขในส่วนของวิธีการหา ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแก้กฎหมาย ต้องโละผู้ตรวจเลือกตั้งทั้ง 616 คน
นายวิษณุ ระบุว่า ตนไม่ทราบ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าความพยายามในการแก้ไขกฎหมายเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นไปภายใต้ความเชื่อว่าผู้ตรวจการชุดเดิม ถูกเลือกมาโดย กกต. ชุดปัจจุบัน ที่บางคนมีสัมพันธ์กับ กกต. ชุดปัจจุบัน อาจทำงานไม่เข้าขากับ กกต. ชุดใหม่ที่เพิ่งถูกเลือกเข้ามา
ทว่า กกต. ชุดปัจจุบัน ยืนยัน ไม่แก้ไขกฎหมาย เปิดช่องให้มีการเลือกผู้ตรวจการชุดใหม่ เพื่อให้ผู้ตรวจการได้เข้าทำหน้าที่เร็วที่สุด โดยหวังว่า องค์ประกอบด้านการเลือกตั้งมีความพร้อมมากที่สุด รองรับการเข้ามาของ กกต. ชุดใหม่ ดีกว่าถูกครหาว่าทิ้งงาน ให้ กกต. ชุดใหม่ดูแล
ขอบคุณข้อมูล : มติชน