ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดละ 8 คน เมื่อวันที่ 31 ก.ค.61 ที่ผ่าน ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นว่า กกต.ชุดเก่าสามารถทำได้ กับฝ่ายที่มองว่าการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ จึงจะเหมาะสมกว่า
โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ชุดเก่า ให้เหตุผลในการคัดเลือกว่า หากรอให้ชุดใหม่มาคัดสรรอาจจะดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากตามกระบวนการ เมื่อได้รายชื่อแล้วจะต้องมีการส่งไปยังจังหวัด เพื่อปิดประกาศรายชื่อ เปิดโอกาสให้มีการคัดค้าน ถ้าพบว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้วางคนของตัวเองเอาไว้อย่างแน่นอน เนื่องจาก เพราะคนจะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องสมัครผ่านจังหวัดต่างๆ และต้องเป็นคนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งคงไม่สามารถจะมีคนของตัวเองที่มีภูมิลำเนาใน 77 จังหวัด
เช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เมื่ออำนาจเปิดทางให้ กกต.ทำได้ เขาก็ทำ จากนั้นก็ให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาดูเอง เท่าที่ทราบ กกต.ชุดเก่าอ้างถึงเหตุผลที่ต้องรีบเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ถ้ารอ กกต.ชุดใหม่ ซึ่งกว่าจะดำเนินไปอะไรได้ ก็จะกระชั้นต่อการเลือกตั้ง และส่วนตัวเห็นว่าอะไรที่ทำให้เร็วได้ก็ดีทั้งนั้น หากผู้ตรวจฯที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ถูกคัดค้าน เมื่อตรวจสอบแล้วมีมูลขัดคุณสมบัติต้องเอาออกและเลือกใหม่
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาไม่ถึงสัปดาห์ มีความเคลื่อนไหวออกมาจากบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงต้องการที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง
นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช.ได้มีหนังสือถึงประธาน สนช.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 61 เพื่อขอให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว พร้อมกับรายชื่อสมาชิก สนช.รวม 35 คน
โดยร่างแก้ไขที่เสนอมีเนื้อหาทั้งสิ้น 11 มาตรา รวม 5 หน้า สาระสำคัญระบุถึงเหตุผลในการแก้ไขว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ การคัดเลือกควรเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีองค์ประกอบหลากหลาย มีความเป็นอิสระ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ป.นี้ ส่วนเนื้อหาที่แก้ไขหลักมีเพียงประเด็นเดียวคือองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด โดยมีการเปลี่ยนผู้แทนจาก 3 องค์กร คือ ประธานสภาทนายความจังหวัด ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกกต. ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ออกจากการเป็นกรรมคัดเลือกตามที่ระเบียบ กกต. ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง 2561 และเสนอองค์ประกอบใหม่ โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกในแต่ละจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยบุคคลรวม 7 คน มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด อัยการจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมการจังหวัด และ ผอ.กต.จังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
ส่วนในกรุงเทพฯ มี 8 คน ประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และ ผอ.กต.กทม. เป็นกรรมการและเลขานุการฯ และที่สำคัญมีกำหนดไว้เป็นมาตรา 9 และ 10 คือ ให้การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ดำเนินการอยู่ก่อน พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ให้สิ้นผลไป และให้ดำเนินการคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 1 ในสนช.ที่ชื่อเสนอแก้ไข พ.ร.ป.กกต.ครั้งนี้ ให้เหตุผลว่า การกระทำของกกต.ชุดปัจจุบันที่ทิ้งทวนแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งก่อนพ้นหน้าที่นั้น เป็นการกระทำที่น่าเกลียด พร้อมระบุว่า เมื่อพูดถึงมารยาทแล้วไม่ควรทำ ควรรอ กกต.ชุดใหม่ดำเนินการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง และ สนช.ไม่ได้แทรกแซงอำนาจของกกต.ชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยควรดึงไว้หน่อย
เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์ รายงานว่า การดำเนินการสรรหาใหม่ตามกระบวนการที่นายมหรรณพนำเสนอในรอบนี้ เป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นสอดคล้องด้วย และเท่าที่ดูจากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่กกต.ชุดปัจจุบันเห็นชอบในขณะนี้ ส่วนใหญ่ถูกมองว่าอิงกับฝ่ายการเมืองบางขั้วมากเกินไป
ขณะที่ความเห็นจากฝ่ายการเมือง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นตำหนิ สนช.ต่อกรณีดังกล่าวว่า สนช.ควรเคารพตัวเองมากกว่า ในเมื่อเป็นผู้ที่ออกกฎหมายมาเองแล้วยังไม่ทันใช้แต่กลับมาแก้ไข เหมือนกับกำลังจะถ่มน้ำลายแล้วไปเอาคืนน้ำลายที่ตัวเองถ่มลงไปที่พื้นนั้น จะไม่รู้สึกขยะแขยงตัวเองอย่างนั้นหรือ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการการเลือกตั้งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมี หลังจากที่ยุบ กกต.จังหวัดทิ้งไป โดยเชื่อว่าจะเป็นวิธีการที่ดีสำหรับนวัตกรรมใหม่เพื่อให้แต่ละจังหวัดดำเนินวิธีการ และจับสลากต่อหน้าคนที่เป็น กกต. และสาธารณชนอย่างเปิดเผย ถือเป็นกระบวนการที่พอรับได้ ส่วนเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบในพื้นที่นั้น หากใช้ความรู้สึกอะไรก็ไม่ยุติธรรมทั้งนั้น อย่าคิดไปเอง แต่ต้องใช้หลักการและความเชื่อมั่นมองคนที่จะเข้ามา เพราะได้ผ่านกระบวนการตามที่กฎหมายเขียนไว้
ในส่วนของความกังวล กรณีสนช.เข้าชื่อขอแก้กฎหมายว่าด้วยการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง หรือไม่นั้น เรื่องนี้ นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. มองในด้านดี ระบุว่า การขอแก้ไขถือเป็นเรื่องดี ทำให้ไม่ต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ และมั่นใจว่าจะใช้เวลาพิจารณาของ สนช. ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป อีกทั้ง ตามมารยาท กกต. ชุดปัจจุบันควรยุติการทำอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญ หากชุดปัจจุบันไปตั้ง แม้กกต.ชุดใหม่มีอำนาจยกเลิก ก็จะสร้างความลำบากใจต่อกกต.ชุดใหม่ เพราะเกรงจะถูกฟ้องภายหลัง