นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านรายการ “ริงไซด์การเมือง” ถึงกรณีการเน้นนโยบายประชารัฐ ว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการถือว่าเป็นอะไรที่น่าเคลือบแคลงใจ ไม่สร้างให้ประชาชนมีบทบาทหรือมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ซึ่งคำว่า “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลพยายามชูขึ้นมาเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงนั้น หากไปดูที่คณะกรรมการมีแต่ข้าราชการ นักธุรกิจและพ่อค้า เท่านั้น ประชาชนอยู่ตรงไหน แต่มาบอกว่าเป็นนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของ คสช. เพราะประชาชนไม่มีส่วนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนี้ เพราะกลุ่มพ่อค้า-นักธุรกิจที่อยู่ในคณะกรรมการ กำหนดนโยบาย แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ได้อย่างไร
สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยทำมาทั้งนั้น การดำเนินนโยบายแบบนี้เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ต่างจากการแจกเงินให้คนจน เพราะบัตรคนจนก็แจกเงินกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องพึงระวังในเรื่องของวินัยทางการเงินการคลัง ประเทศไทยในสมัยนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพราะจัดทำงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันนโยบายทางด้านเศรษฐกิจก็ไม่ต่างกันทุกรัฐบาล คือ คนที่ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลคือพ่อค้า นายทุน ไม่ใช่ประชาชน
นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลทุกรัฐบาลเดินหน้าในการลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน เปิดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรให้มากขึ้น พร้อมกันนี้รัฐบาลต้องเน้นในการแก้ปัญหาภาคเกษตรให้มากขึ้น รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรให้มากขึ้น ไม่ปล่อยให้กลุ่มทุนเข้าไปครอบงำเกษตกรเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เกตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นผลดีกับประเทศเช่นกัน
นอกจากนี้ นายณรงค์ ยังนำเสนอแนวคิดการตั้งสหภาพหรือสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของภาคแรงงาน รวมถึงการตั้งธนาคารแรงงาน ที่จะกู้เงินมาจากกองทุนประกันสังคมอีกด้วย