วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมโครงการจัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๑ “วิถีชนเผ่าพื้นเมือง ๔.๐ สู่สังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน” ร่วมจัดโดย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคีองค์กรเครือข่ายที่ทำงานกับชนเผ่าพื้นเมือง ณ หอปรัชญารัชกาลที่ ๙ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ในการนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี ๒๕๖๑ และแถลงเจตจำนงการส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยสรุปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังคงเดินหน้าในการยืนยัน และการแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมือง ดังนี้ (๑) การเข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples – UNDRIP) และกฎหมายอื่น ๆ โดยแก้ไข หรือลดปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะต้องได้รับใบเกิด ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ประมาณ ๙๐,๐๐๐ คน (กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี) ทั้งนี้เพื่อให้มีการพิสูจน์สัญชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องชาติพันธุ์ ในการทำหน้าที่การจัดทำข้อมูล และการยืนยันสถานะบุคคลตามข้อเท็จจริงด้วย
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดสำหรับการแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีชายแดนติดประเทศต่าง ๆ ระยะยาว ทำให้ยังมีคนไร้สัญชาติคงเหลืออยู่มากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องทำอย่างเป็นระบบ และต้องครอบคลุมถึงกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติซึ่งยังมีประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน อันถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดีเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ กสม. จะจัดเวทีการหารือเชิงนโยบายกับหน่วยงานรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมกันต่อไป
(๒) การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาแม่ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การตระหนักรู้ที่ถูกต้อง (๓) การสร้างความเสมอภาค และความเป็นธรรมระหว่างเพศ และวัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายต่าง ๆ และการพัฒนาศักยภาพในส่วนที่เกี่ยวข้อง และ (๔) การส่งเสริมความมั่นคงในการใช้ชีวิตกับถิ่นฐานบรรพบุรุษ การใช้ที่ดิน และทรัพยากร ตลอดจนการสืบทอดภูมิปัญญาในอัตลักษณ์และวัฒนธรรม
นอกจากนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ยังได้รับฟังปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ทั้งเรื่องการจัดการที่ดิน การกันแนวเขตไร่หมุนเวียน และการประกาศเขตวนอุทยานทับที่ดินทำกินของประชาชน โดยเห็นว่า เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ กสม. จะเป็นคนกลางในการประสานงานทั้งภาครัฐ กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ต่าง ๆ และผู้มีอำนาจในระดับนโยบาย เพื่อจัดประชุมหารือ และแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
อนึ่ง งานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๑,๕๐๐ คน ประกอบด้วย ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ ๔๐ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน ภาคีองค์กรเครือข่ายที่ทำงานกับชนเผ่าพื้นเมือง นักวิชาการ และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่และติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ของชนเผ่าพื้นเมือง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปฏิบัติการที่ดีในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และรณรงค์ให้รัฐและสาธารณชนได้ยอมับการมีตัวตน และแสวงความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง