เห็นทีบรรดาบรรดานักการเมือง ที่เตรียมจะกระโดดเข้าสู่สนามเลือกตั้ง คงจะได้ยินข่าวดีเร็วๆนี้ หลังจากคสช. ส่งสัญญาณว่า เตรียมปลดล็อกการเมือง ให้บรรดานักการเมืองการเคลื่อนไหว ได้ในระดับหนึ่ง
ก่อนหน้านั้นเรามักได้ยิน แกนนำพรรคการเมืองมักออกมาเรียกร้อง อย่างเอาเป็นเอาตาย กดดันให้คสช. ในฐานะดูแลงานด้านความมั่นคง ผ่อนคลายกฎเหล็ก เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมือง มีเวลาเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจัดทำไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นกฎกติกา ตามรัฐธรรรนูญฉบับใหม่
ไหนลองย้อนดูการประชุม คสช. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ได้หารือเรื่องเรื่องยกเลิกข้อบัญญัติบางประการ ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ไขปัญหา ทำประมงผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่องประมงที่ในคำสั่ง คสช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เกิดความซ้ำซ้อนกัน
ปัญหาการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และเรื่องของการดำเนินการ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะต้องมีการคลายล็อกในบางเรื่อง อาทิ การจัดทำไพรมารีโหวต การประชุมใหญ่พรรคการเมืองเก่า และที่ประชุมคสช.ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง
จากนั้น “นายวิษณุ เครืองาม ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ได้ออกมาขยายผล การประชุมคสช.ว่า ได้เสนอแนวทางการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เกี่ยวกับประเด็นการจัดทำไพรมารีโหวตต่อที่ประชุม คสช. 2 แนวทางคือ 1.การจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาค
และ 2.ใช้วิธีการอื่นๆ ในการรับฟังความคิดเห็น จากสมาชิกพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัคร ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ร่างไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งคสช.เห็นชอบทั้ง 2 แนวทาง เพราะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และได้มอบหมายให้ตนไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ยังบอกอีกว่า 2 แนวทางที่เคยพูดถึงก่อนหน้านี้คือ 1.ไม่ต้องมีการทำไพรมารีโหวตเลย กับ 2.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก โดยให้ไปทำในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแทนนั้น คสช.ให้ตัดออกไป เพราะเสี่ยงจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร
เนื่องจากไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก อย่างไรก็ตาม หลังจากเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะต้องกลับไปทำไพรมารีโหวตแบบเดิม เว้นแต่สภาที่มาจากการเลือกตั้งทำการแก้ไข
ครับ….ตามข่าววงในดูเหมือนผู้มีอำนาจในรัฐบาล จะเลือกช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงปลดล็อกการเมือง ด้วยประเมินว่า เป็นช่วงที่เหมาะสม ก่อนมีการเลือกตั้งประมาณ 6 เดือน ถ้าหากโรดแม็พไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำไพรมารีโหวต และแต่งตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อกฎหมายหลายประการ ที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆต้องปรับตัว
หรืออาจใช้วิธีอื่น.ใช้วิธีการอื่นๆ แทนไพรมารีโหวต ในการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหลายพรรคเห็นด้วย เพราะเชื่อว่าเตรียมตัว ใช้ระบบการคัดเลือกผู้สมัครตามรัฐธรรมนูญไม่ทันแน่ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการได้เปรียบ เสียเปรียบในการเลือกตั้ง
แต่ที่ต้องจับตามองคือ ความเคลื่อนไหวของสองพรรคการใหญ่ “ เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งจะมีการประชุมสมาชิกพรรค เพื่อคัดเลือกผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งชัดเจนว่า ทั้งสองพรรคน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหัวหน้าพรรค
แถมอาจส่งสะเทือน ถึงขั้นสมาชิกพรรคบางส่วน แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ และส่งผลทำให้ “ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ” รีเทิร์นสู่เก้าอี้ สร.1อีกรอบหนึ่งแบบนอนมา ไม่มีพระนำเลยก็ว่าได้
“ อโศกมนตรี ”