นายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการเดินสายลงพื้นที่ของกลุ่มสามมิตร ที่ถูกจับตามองว่าอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและอาจขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่า คงไม่มีผลกระทบอะไรกับพลังประชารัฐ แม้จะมีกระแสข่าวกลุ่มสามมิตรจะเข้าร่วมด้วย แต่เชื่อว่า กกต.และ คสช.แยกออกว่าไม่เกี่ยวกับเรา ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้ง 20 กว่าคนยังไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร และยังไม่เป็นพรรค
“แต่เชื่อว่าถ้าไม่เลยเถิดอะไรเขาคงไม่อยากให้เกิดความเครียดอะไรขึ้นมา แต่ถ้าไปโฉ่งฉ่างมากก็น่าเกลียด จะถูกตำหนิเอาได้ ป่าวประกาศเช้าเย็นพรรคอื่นจะมองเอาได้ เจ้าหน้าที่ลำบากใจ แต่เชื่อว่าไม่มีอะไรกับเรา ถ้าเป็นสมาชิกแล้วก็พอห้ามได้” นายชวนกล่าว
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่ากลุ่มสามมิตรไม่เกี่ยวกับตนเอง แต่ในทางกลับกันกลุ่มสามมิตรก็ออกมาบอกว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวกัน แม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่ท่านกำลังกระทำก็ตาม ตนเชื่อว่าถ้าเราเอาความไม่ถูกต้องไปต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ก็ต้องออกมาไม่ถูกต้อง แม้จะได้ผลชั่วคราว เรากำลังต่อค่านิยมที่ผิด และอาจกำลังจะได้ผู้ร้ายหรือยักษ์ตัวใหม่ขึ้นมา เพราะการเมืองที่เริ่มต้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จะนำไปสู่ธรรมาภิบาลได้อย่างไร
เมื่อถามว่า กลุ่มสามมิตรอ้างว่าช่วยรัฐบาลทำหน้าที่เดินสายประชาสัมพันธ์ได้เพราะไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังจะดำเนินคดีกับกลุ่มสามมิตร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กลุ่มสามมิตรเขาก็อ้างและใช้สิทธิที่ว่าเขายังไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะฉะนั้นจะเอากฎหมายอะไรที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองมาบังคับใช้กับเขาคงไม่ได้ ในส่วนนี้เขาก็ถูก แต่ในประเด็นชุมนุมเกิน 5 คนนั้น ตรงนี้จะเป็นอำนาจของ คสช.ไม่เกี่ยวกับ กกต. แต่ที่น่าสนใจคือ ทำไม กกต.พูด ในความเห็นตนมองว่าที่ กกต.ออกมาพูด เพราะเขาคงเห็นว่า ทำไม คสช.ไม่ทำอะไรเลย เพราะการไม่ทำอะไรเลยจะส่งผลต่อความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรนั้นใครๆ ก็ทราบดีว่าต้องจบลงที่พรรคการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น กกต.จึงต้องเตือนและทักท้วง
ด้านนายดร งามธุระ ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มสามมิตร กล่าวว่า กรณีที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ระบุว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงว่า การที่กลุ่มสามมิตรเดินสายพบผู้นำท้องถิ่นที่ จ.นครราชสีมา จะเข้าข่ายผิดพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มนั้น สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพราะกลุ่มสามมิตรไม่ได้มีสภาพเป็นพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 การลงพื้นที่เป็นเพียงแต่ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน แล้วเรามาหาทางช่วย อีกทั้งเป็นก่ารสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ทำให้คนไทยรักกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
“การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสามมิตร ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมชนทางการเมืองกันเกิน 5 คน เพราะกรณีดังกล่าวนี้ พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 เคยระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองในพื้นที่ต้องมีการพบปะกันทุกฝ่ายอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็เป็นคนไทยด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน มีความรักความสามัคคี อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าไปได้ การไปพบปะพูดคุยกันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะไปกี่กลุ่ม กี่คนก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะไม่ได้ไปทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่า ทางกลุ่มสามมิตรไม่ได้ฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยฉบับที่ 3/2558 แต่อย่างใด” นายดร ระบุ
ขอบคุณข้อมูล : มติชนออนไลน์