ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวในรายการริงไซด์การเมือง ถึงกรณีการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการของกระทรวงหมาดไทย ว่า การโยกย้ายที่เกิดขึ้นไม่ทราบว่าเป็นการโยกย้ายปกติหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่เรามองได้ เพราะข้าราชการมีส่วนสำคัญกับการเมืองเรื่องการเลือกตั้งตลอดเวลา ทุกรัฐบาล มีอำนาจในการสั่งการหรือให้คุณให้โทษกับข้าราชการได้ ดังนั้นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจึงสำคัญ
นอกจากนี้ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เองก็เป็นรัฐบาลแม้จะมาจากการยึดอำนาจแต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยับข้าราชการล้วนน่าสนใจเพราะเป็นการขยับข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจมาก แม้ไม่สามารถแทรกแซงการเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง แต่มีความสัมพันธ์กับข้าราชการทั้งท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อสม.หรือผู้นำชุมชน ดังนั้นจึงเป็นที่จับตามอง นอกจากนี้ในการจัดการลงประชามติที่ผ่านมา จะพบว่าข้าราชการมีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการลงคะแนนอย่างยิ่ง
ผศ.ดร.โอฬาร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ย่อมมีข้าราชการเข้ามาเอี่ยว เพราะการเคลื่อนไหวไปจังหวัดไหนมีข้าราชการลงไปด้วยทักครั้ง ดังนั้นการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งเพื่อหนุนกลุ่มการเมือง
“การลงประชามติในครั้งนั้นได้คะแนนเสียงรับไปถึง 16.5 ล้านเสียง เป็นความสำเร็จจากการจัดวางอำนาจไว้ผ่านเครือข่ายข้าราชการ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า หาก คสช.สามารถวางกำลังได้ด้วยการนำเอาข้าราชการเป็นตัวนำในการหาเสียงให้กับ คสช.ก็อาจจะส่งผลถึงผลการเลือกตั้งด้วย เพราะจะเท่ากับว่า คสช.มีกำลังหนุนมหาศาลทั้งกลไกรัฐ และทุน อาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้”
ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คสช.วางคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องเอาชนะให้ได้ ดังนั้นหากมีการจัดวางข้าราชการตรงนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่หนุนคสช.ดังนันการจัดวางข้าราชการก่อนการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญมาก