นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวใน FB “ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย” ในประเด็นการศึกษา ว่า
ช่วงนี้พรรคภูมิใจไทย โดยท่านอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาซึ่งน่าสนใจยิ่ง
เป็นที่ยอมรับว่าประเทศสิงคโปร์ในวันนี้คือความสุดยอดด้านการศึกษา และผมได้มีโอกาสศึกษาจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กัน
การปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อ 30-35 ปีที่แล้ว หรือ ประมาณ 10 ปีหลังจากที่สิงคโปร์แยกตัวเองออกมาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรและทรัพยากรธรรมชาติอย่างจำกัด ในยุคแรกของการปฏิรูปการศึกษา รัฐบาลสิงคโปร์ได้อาศัยทุนมนุษย์และระบบการศึกษาที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลส่งนักวิชาการและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาเรียนรู้จากประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำของโลกในสมัยนั้น เช่น อิสราเอล ญี่ปุ่นและแคนาดา เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้ปฏิรูประบบการศึกษา
ต่อมาไม่นานระบบการศึกษาของสิงคโปร์ก็ได้พัฒนาจนแซงหน้า 3 ประเทศต้นแบบ และยังแซงหน้าประเทศอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษด้วย”
ปัจจุบันสิงคโปร์ถูกยกย่องจากทั่วโลกว่ามีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นอันดับหนึ่งของโลก (วัดจากคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี) ปัจจัย 2 ประการที่ทำให้ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จ คือ “คุณภาพครู” และ “นโยบายการศึกษาของรัฐบาลที่ต่อเนื่องและเข้มแข็ง” ระบบโครงสร้างในการผลิตครูของสิงคโปร์ให้มีคุณภาพนั้นไล่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ด้านคุณภาพครู สิงคโปร์มีวิธีจูงใจให้เด็กหัวกระทิ Top 30% ของชั้น ที่เรียนจบมัธยมปลายให้สนใจมาเรียนครู มอบทุนการศึกษาพร้อมเงินเดือนให้ใช้จ่ายระหว่างเรียนครู (เงินเดือนประมาณ 2 ใน 3 ของเงินเดือนครูจริง ๆ
โดยอาชีพครูแบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบแรกผู้ที่ตั้งใจจะประกอบอาชีพเป็นครูตั้งแต่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วสมัครเข้ารับการฝึกอบรมที่ NIE เป็นระยะเวลา 2 ปี (ใบประกาศนียบัตรเพื่อใช้ในการสอนในระดับประถมศึกษา) หรือ 4 ปี (ปริญญาตรีเพื่อใช้ในการสอนในระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา) แบบที่สอง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากสาขาอื่น แต่ต้องการที่จะประกอบอาชีพเป็นครู ต้องเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพการเป็นครู (Postgraduate Diploma in Education) อีก 1 ปี ก่อนที่จะไปสอนตามโรงเรียนต่างๆได้ น่าสนใจนะครับ
ตัวอย่างความสำเร็จด้านการศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ถือเป็นปัญหาใหญ่โตมโหฬารสำหรับประเทศไทย วัดความรู้เด็กไทย เทียบกับนานาชาติ เรามักได้อันดับไม่สู้ดีนัก ซึ่งผมคงจะไม่สะท้อนภาพความล้มเหลว เพียงแต่อยากจะหาทางแก้ไขครับ
ส่วนตัวผมอยากให้คนไทยได้เรียนรู้จากประเทศสิงคโปร์ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าสิงคโปร์นั้น เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก แต่ประเทศสิงคโปร์กลับเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะทรัพยากรมนุษย์ อยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก เป็นผลผลิตจาก “การศึกษา” ที่มีประสิทธิภาพ
ที่ประเทศสิงคโปร์ ครูได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง ในฐานะเบ้าหลอมความสำเร็จของชาติ เหล่านี้สะท้อนผ่านเงินเดือนครูที่สูงกว่าอาชีพอื่น หรือประมาณ 1.2 แสนบาทไทย ต่อเดือน
เมื่อได้ครูแล้ว หลักสูตรต้องดีด้วย สำหรับประเทศสิงคโปร์ มีหลักสูตรจำนวนมากมาย เพื่อรองรับความความถนัดของเด็กแต่ละคน การเรียนรู้ เน้นเรียนอย่างลึกซึ้ง รู้ลึก รู้จริง รู้อย่างมีเหตุผล
ใช้การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริงสลับกับการเรียนในตำรา อาทิ การเรียนเลขนั้น จะเริ่มต้นด้วยการพานักเรียนไปขึ้นแท็กซี แล้วคำนวณค่าแท็กซี เงินที่ต้องจ่าย และเงินทอนที่ต้องได้รับ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นตามความจริง เพื่อให้นักเรียนเห็นความจำเป็นของสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียน
นอกจากนั้น การเรียนที่สิงคโปร์ เน้นที่เหตุและผลเป็นหลัก พวกเขาปฏิเสธเรื่องการท่องจำแต่เน้นให้ทราบเหตุและผลของทุกการกระทำ วิชาเลข และวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่ทิ้งไม่ได้
แม้นักเรียนจะเลือกเรียนสายสังคม แต่วิทยาศาสตร์ ก็ยังเป็นความจำเป็น เพราะเพียงการจำประวัติศาสตร์อย่างไม่มีเหตุผล นักเรียนย่อมไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ได้
นี่คือรูปแบบการจัดระเบียบการศึกษาของสิงคโปร์
แล้วประเทศไทยของเราละครับ
#ศุภชัยใจสมุทรพรรคภูมิใจไทย
#พรรคภูมิใจไทย