พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะ ออกเดินทางจาก กรุงเทพฯ เพื่อไปตรวจราชการ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ที่ จ.ชุมพรวันที่ 21 ส.ค.
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 ส.ค. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานในพิธีมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม พร้อมพบปะกับประชาชน ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ก่อนเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน สวนสาธารณะรักษะวาริน รวมถึงเยี่ยมชมศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลระนอง จากนั้นจะเยี่ยมชมการบริหารจัดการท่าเรือระนอง บ้านเขานางหงส์ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ก่อนเดินทางไปยัง จ.ชุมพรในลำดับถัดไป
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ในฐานะเจ้าบ้านที่เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง มีเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่จะฝากให้พิจารณา ด้วยการ “ทวงข้อเสนอเดิม” และมีคำถามเพื่อให้ท่านตอบ ทั้งนี้ หลังจากการแก้ไขวิกฤตยางพาราไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 ของรัฐบาล คสช. จนถึงปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบมาหลายคน แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้เสนอแนวทางปฏิรูปยางพาราไทย 5 ด้าน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 อาทิ ปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการใช้กลไก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 ปฏิรูปการผลิตและแปรรูปยางพารา ปฏิรูป กยท.เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยาง อีกทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้พ่อค้าส่งออกยางลดการเอาเปรียบเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคายางให้เลยจุดคุ้มทุน เพราะเป็นสินค้าควบคุม
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ว่า รายได้ท่องเที่ยวเป็นรายหลักของประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ในเวลานี้ถือว่าอยู่ในช่วงเศรษฐกิจทรุดที่สุด ครั้งหนึ่งภาคใต้เคยเป็นภาคที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด แต่ในวันนี้กลายเป็นภาคที่ทรุดมากที่สุด ภาคใต้เป็นแหล่งที่ทำรายได้สูงสุด เกินกว่า 1 ใน 3 ของรายได้การท่องเที่ยวในประเทศ รายได้ภาษีศุลกากร ส่งออก นำเข้า อันดับ 1 คือ กทม. อันดับ 2 สงขลา ตัวเลขภาษีเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่า ภาคใต้เป็นแหล่งทำเงิน แต่ด้วยผลจากภาวะเศรษฐกิจจึงทำให้เข้าใจกันว่าเกิดจากสภาวะพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ แต่ในความจริงตกต่ำทุกภาค โดยเฉพาะยางพารากระทบมากที่สุด รองลงมาคือปาล์มน้ำมัน ข้าวก็กระทบ ทุกตัวของภาคเกษตรกระทบหมด ความพยายามที่จะแก้ปัญหามี แต่ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้
นอกจากนี้ นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ถึงสภาพเศรษฐกิจอันย่้ำแย่ของภาตใต้ที่ตนเองได้รับฟังมา ระบุว่า
ญาติพี่น้องขึ้นมาจากภาคใต้หลายคน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยประสบชะตากรรมลำบากอย่างวันนี้
1 การประมงเจ๊งหมด
2 สวนยางเจ๊งเรียบ และยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขอย่างไรได้
3 ท่องเที่ยว หายไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว แนวโน้ม วังเวงมาก
4 เงินสดหายไปจากตลาด ถึงขั้นที่ชาวบ้านไม่อยากออกจากบ้านไปจ่ายตลาดกันแล้ว ผมเองเป็นคนภาคใต้
นายไพศาล ย้ำอีกว่า อายุขนาดนี้ ยังไม่เคยได้ยินข่าวคราวพี่น้องที่บ้านเกิดและภาคใต้ตกระกำลำบากอย่างนี้เลย ก็ต้องบ่นให้ได้รู้ได้ยินกันบ้าง อีกทั้ง การจะดูแลอาณาประชาราษฎรให้อยู่ดีกินดีนั้นจะคำนึงแต่ตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแท้จริงประชาชนไม่ได้รับผลอะไรเลย