หน้าแรก news “อาจารย์จุฬาฯ” ชี้ กยศ.เป็นบริการสาธารณะ ไม่ปลื้ม ใช้กฎหมายแพ่งบี้หนี้

“อาจารย์จุฬาฯ” ชี้ กยศ.เป็นบริการสาธารณะ ไม่ปลื้ม ใช้กฎหมายแพ่งบี้หนี้

0
“อาจารย์จุฬาฯ” ชี้ กยศ.เป็นบริการสาธารณะ ไม่ปลื้ม ใช้กฎหมายแพ่งบี้หนี้
Sharing

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรร์มหาวิทยาลัย กล่าวใน www.the101.world ภายใต้หัวข้อ ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบายกองทุน กยศ. ใจความสำคัญระบุว่า

เมื่อเงินกลายเป็นต้นทุนของการ “ซื้อโอกาส” เพื่อเข้าถึงการศึกษา  หากพิจารณาถึงเครื่องมือในปัจจุบัน พบว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือกองทุน กยศ. เป็นเครื่องมือทางการคลังอย่างหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนโดยผ่านทางการให้เงินกู้ยืมเพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไม่มีเงินสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น

หากตั้งหลักว่าการศึกษาคือ “บริการสาธารณะ” กองทุน กยศ. คือการสร้างโอกาสให้คนไม่มีเงินได้เข้าถึงการบริการสาธารณะด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม เป็นการเอาเงินภาษีมาลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างเด็กคนหนึ่งให้เป็นทรัพยากรของประเทศชาติในอนาคต

การลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์เช่นนี้ ทำให้กองทุน กยศ. มีมิติที่แตกต่างจากกองทุนประเภทอื่นของรัฐ

เมื่อการศึกษาเป็นภารกิจด้านบริการสาธารณะของรัฐ เช่นเดียวกับการสาธารณสุขหรือสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน เป้าหมายของการจัดตั้งกองทุน กยศ. ย่อมไม่ใช่การหากำไรหรือประกอบการพาณิชย์ รัฐจึงอาจขาดทุนจากการให้กู้ยืม ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมไป รัฐอาจไม่ได้คืนกลับมาทั้งหมด

ในประเทศอังกฤษเองก็มีความเห็นว่า ไม่มีการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาใดที่รัฐจะได้รับเงินกลับคืนมาเต็มจำนวน แต่อาจได้กลับได้คืนมาบางส่วนอันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภาวะเงินเฟ้อ อัตราการจ้างงาน การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพของผู้กู้ยืม

รัฐและผู้เสียภาษีในประเทศที่มีระบบกองทุนการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต้องเข้าใจว่า ดอกผลที่เกิดจากการให้กู้ยืมเหล่านี้จะกลับคืนให้กับสังคมในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เพียงเม็ดเงินงบประมาณ แต่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะและศักยภาพเพื่อเป็นแรงงานพัฒนาประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี รัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องได้เงินกลับคืนมาส่วนหนึ่งเป็นฐานในการหมุนเวียนเงินของกองทุนให้ยั่งยืนสำหรับผู้กู้ยืมรุ่นต่อๆ ไป

ในปี พ.ศ. 2559-2560 ที่ผ่านมา พบว่าเงินของกองทุน กยศ. ที่เคยให้กู้ยืมเริ่มไหลกลับคืนเข้ามาในระบบของกองทุนมากขึ้น จนสามารถเริ่มพึ่งพาใช้เงินทุนหมุนเวียนของกองทุนได้เอง สะท้อนว่าเงินภาษีของประเทศได้สร้างโอกาสให้กับคนรุ่นหนึ่งจนเรียนจบ มีงานมีอาชีพ บัดนี้คนเหล่านี้ได้ส่งเงินกลับคืนเข้ากองทุนเพื่อให้โอกาสกับคนรุ่นต่อๆ ไป

แม้การศึกษาคือการจัดทำบริการสาธารณะ แต่ทุกวันนี้การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาของไทยถูกจัดวางภายใต้กระบวนการทางกฎหมายแพ่ง ตั้งอยู่บนมุมมองของเอกชนทำสัญญากับเอกชน มีผู้กู้-ผู้ให้กู้-ผู้ค้ำประกัน

เมื่อรัฐเรียกเงินจากลูกหนี้ผู้กู้ยืมไม่ได้ ก็ไปดำเนินการไล่บี้กับผู้ค้ำประกัน-ฟ้องร้อง- บังคับคดี-ยึดทรัพย์สิน สะท้อนการบริหารจัดการของรัฐว่ามุ่งติดตามเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วยวิธีคิดแบบธุรกิจ กล่าวคือรัฐต้องไม่เสีย ไม่ขาดทุน แสดงให้เห็นถึงการขาดมิติเรื่องจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งการใช้จ่ายเงินลักษณะนี้ รัฐต้องตระหนักว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมา ไม่ได้สิ้นสุดที่ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย แต่เป็นดอกผลในรูปของการ “สร้างคน”

เมื่อกองทุน กยศ. เป็นภารกิจที่รองรับการบริการสาธารณะด้านการศึกษา การนำวิธีการทางกฎหมายแพ่งมาบังคับใช้เพื่อให้รัฐสามารถตามเก็บเงินกู้ยืมทุกบาททุกสตางค์จนกระทบบุคคลที่ 3 หรือผู้ค้ำประกัน จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ไม่เกิดความเป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับหลักการของกองทุน กยศ. ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้

  1. ยกเลิกระบบผู้ค้ำประกัน

การที่รัฐยืนยันว่าเงินทุกบาทต้องไม่หล่นหาย เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชนย่อมเป็นสิ่งดี แต่ควรปักหมุดตามเก็บเงินทุกบาทของคนไทยที่สูญหายจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ในขณะที่การกู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่ควรผูกมัดโอกาสของคนไม่มีเงินไว้กับการมีผู้ค้ำประกัน

การที่รัฐยึดโยงระบบผู้ค้ำประกันจนทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเนื่องจากหาผู้ค้ำประกันไม่ได้นั้น ในระยะยาวแล้ว สิ่งใดจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐและสังคมโดยรวม มากกว่ากัน?

  1. ผูกระบบติดตามหนี้

รัฐต้องดำเนินการบันทึกเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเก็บข้อมูลที่จำเป็นของผู้กู้ยืมไว้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการกู้ยืม และบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยึดโยงไปถึงระบบการเสียภาษี ระบบประกันสังคมหรือระบบประกันสุขภาพของผู้กู้ยืมในอนาคต

  1. สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ชั้นดี

ผู้กู้ยืมหลายรายกู้ยืมเงินด้วยความตั้งใจที่จะสำเร็จการศึกษาอย่างรวดเร็ว หางานทำและรีบนำเงินชดใช้หนี้กลับคืนรัฐ รัฐต้องสร้างแรงจูงใจไปยังกลุ่มลูกหนี้ชั้นดีเหล่านี้ เช่น ผู้กู้ยืมคนใด เรียนจบเร็ว หนี้ที่กู้ยืมไปเมื่อเริ่มต้นการศึกษาอาจลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งที่ต้องชำระ

  1. ลดหนี้ให้กับการทำงานที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

เช่นเดียวกันกับการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มลูกหนี้ชั้นดีข้างต้น กรณีผู้กู้ยืมคนใดเข้าทำงานบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรืออาสาลงไปทำงานยังพื้นที่ที่กันดานหรือเสี่ยงอันตราย รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนลูกหนี้กลุ่มนี้ เช่น การหักลดหย่อนหนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษาบางส่วนให้

  1. ทำงานแทนเงิน

แม้อัตราการว่างงานในประเทศจะต่ำ แต่การหางานทำได้ในแต่ละจังหวัดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย กรณีลูกหนี้ กยศ. ที่ตกงานและไม่มีรายได้ แต่มีความตั้งใจที่ชดใช้หนี้ให้กับรัฐ บุคคลกลุ่มนี้รัฐควรดำเนินการแปลงหนี้และดอกเบี้ยให้เป็นแรงงาน ใช้มันสมองหรือศักยภาพของคนเหล่านี้แทน โดยรัฐเสนอหรือจัดหางานบางตำแหน่งในภาคส่วนต่างๆ ให้ทำเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถทยอยปลดเปลื้องภาระหนี้สินในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากตัวเงิน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่