นายวีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติข้าว หรือ พรบ.ข้าว ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นคนจำนวนกว่าร้อยละ 40 ของประเทศนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ และหลังจากได้อ่านตัวร่างกฎหมายกลับพบคำถาม/ปัญหาที่ยังรอคำตอบอยู่ 6 ประการ
โดยร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดให้มี “คณะกรรมการข้าว” เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หลัก โดยสัดส่วนของคณะกรรมการข้าวเสียงข้างมากมาจากภาคส่วนราชการ และภาคเอกชนอีก 5 คน ในขณะที่ผู้แทนของเครือข่ายชาวนามีเพียง “จำนวนไม่เกิน 5 คน” ซึ่งเป็น “เสียงข้างน้อย” ในคณะกรรมการชุดนี้ แบบนี้จึงเกิดคำถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาชาวนา แต่ทำไมคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนชาวนาถึงมีจำนวนเป็นเสียงข้างน้อย? แบบนี้จะสะท้อนปัญหาที่ชาวนาเผชิญได้จริงหรือ?
คณะกรรมการข้าวชุดนี้สามารถกำหนด “ราคากลาง” ของข้าวได้ ทั้งราคาแนะนำสำหรับการรับซื้อข้าวเปลือก คำนวณต้นทุนการผลิตข้าวเปลือก และกำหนดราคาขายได้ แบบนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่าราคากลางดังกล่าวเป็นธรรมกับชาวนา? และข้อสงสัยยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อชาวนาเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการข้าว จะไม่ทำให้ราคากลางข้าวดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อภาครัฐและกลุ่มทุนภาคเอกชนที่รวมกันแล้วเป็นเสียงข้างมาก ได้จริงหรือ?
ที่น่าเป็นห่วงก็ปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าว ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้ตามประเภทความผิด ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 5 ปี หากเกิดกรณีเช่น ชาวนาได้ทำการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ปลูกเองตามวิถีชาวบ้าน และมีการแลกเปลี่ยนในชุมชน แบบนี้หากเจ้าหน้าที่รัฐพบเห็น จะโดนจับในทันทีเลยหรือ? นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในนาข้าว และสถานที่ที่เก็บข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อตรวจสอบ รวมถึงการยึดหรืออายัดข้าวหรือเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายนี้ แบบนี้จะเป็นการเปิดช่องในการใช้อำนาจที่มากเกินสมควรหรือไม่? แม้ว่าร่างกฎหมายจะไม่กำหนดโทษต่ำสุดเพื่อเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจของศาล แต่การใช้อำนาจจากกฎหมายดังกล่าวจะมั่นใจได้เพียงใด ว่าจะได้เกิดกรณีปัญหาที่จะคุกคามชาวนา หรือเอื้อประโยชน์ให้กับพันธุ์ข้าวบางสายพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนเป็นพิเศษ?
นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยที่มาที่ไปในการยกร่าง “พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ….” ที่กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณาของ สนช.ว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยชาวนารอดพ้นจากการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้ากดราคารับซื้อข้าวเปลือก จนเป็นเหตุให้ชาวนามีรายได้น้อย ขาดแรงจูงใจ ไม่มีชาวนารุ่นใหม่ ๆ กล้าจะเข้าสู่อาชีพนี้ และอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีกลไกที่จะเข้าไปช่วยควบคุมการผลิต และจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ โดยมีคณะกรรมการข้าว (คกข.) ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเข้าไปร่วมกันกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพทั้งห่วงโซ่การผลิต การตลาดและการส่งออก ทำให้เกิดความสมดุล สามารถแข่งขันได้ในอนาคต
ในขณะเดียวกัน มุมมองของ “นายสุเทพ คงมาก” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สมาคมชาวนาที่มีอยู่ในประเทศไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ทางสมาคมจะทำหนังสือคัดค้านเสนอต่อประธานคณะกรรมาธิการด้านเกษตร และประธานรัฐสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่แรก เนื่องจากการยกร่างกฎหมายของ สนช.เป็นความลับ ไม่มีการขอความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ทั้งชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก แต่มีการลักไก่ขอความเห็นโดยอาศัยเวทีการประชุมของกรมการข้าว ซึ่งจัดประชุมเรื่องศูนย์ข้าวชุมชน และนาแปลงใหญ่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2561 โดยมีการบรรยายสรุปและขอให้ทุกคนยกมือสนับสนุน เท่ากับว่าไม่ใช่เป็นการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ประกอบกับการกำกับดูแลข้าวของไทยปัจจุบันมี นบข. เป็นคณะกรรมการหลักที่สามารถกำหนดนโยบายบริหารจัดการข้าวได้ และยังมี “คณะกรรมการข้าวครบวงจร” ซึ่งช่วยให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้ 3 ปีแล้ว และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมอยู่แล้ว หากมีกฎหมายนี้ก็เท่ากับต้องไปยุบกฎหมายอื่น ซึ่งตนยังมองไม่ออกว่า วิธีการกำกับดูแลตามกฎหมายใหม่นี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรได้อย่างไร
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ทำหนังสือ 3 ฉบับ ถึงอธิบดีกรมการข้าว, เลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า กฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ หากนำมาบังคับใช้จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อระบบการค้าข้าวทั้งวงจร
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นมากำกับดูแลการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโรงสีและชาวนา กำหนดว่าต้องมี “ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก” เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชื้นข้าวเปลือก จากที่ผ่านมาในธุรกิจข้าวไม่เคยมีใครสามารถกำหนดเรื่องนี้ได้ และที่สำคัญ ระบบการค้าข้าวในปัจจุบันมีกฎหมาย พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489 กำกับดูแลทั้งการกำหนดราคาข้าว และสั่งห้ามมิให้ขายเกินราคา การกำหนดให้แจ้งปริมาณและสถานที่จัดเก็บ และการครอบครองอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการโรงสีต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน และกรมโรงงานฯเพื่อขอใบอนุญาต และมีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญและทักษะเฉพาะ แต่หากกฎหมายใหม่เพิ่มขั้นตอน “การตรวจสอบข้าวเปลือก” จะกลายเป็นอุปสรรคและสร้างภาระค่าใช้จ่าย และไทยไม่เคยมีผู้ตรวจสอบข้าวเปลือกมาก่อน
ส่วนการกำหนดราคาผลผลิต โดยปกติได้กำหนดตามชนิดข้าว และค่าความชื้นของข้าวในแต่ละระดับ เพื่อประโยชน์ในการรับซื้ออยู่แล้ว ที่สำคัญ “ราคารับซื้อ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ แต่ขึ้นอยู่กับข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายว่ามีคุณภาพมากเพียงใด ธุรกิจโรงสีในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่ากำลังการผลิตข้าว จึงมีการแข่งขันสูง ไม่สามารถจะกดราคารับซื้อได้ อีกทั้งภาครัฐสามารถเข้ามาบริหาร กำหนด ควบคุม และรับรู้คุณภาพผลผลิตข้าวเปลือกของชาวนาได้ไม่ยาก เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนชาวนาอยู่แล้ว น่าจะสามารถบริหารจัดการจุดนี้ได้ ใน พ.ร.บ.ค้าข้าวเดิมก็มีกฎหมายลูก/ประกาศของกฎกระทรวงดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว
กรณีที่มีเหตุให้เชื่อว่าฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษกับผู้รับซื้อหรือผู้ประกอบการถึงขั้นโทษจำคุกและปรับนั้น อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ หากหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลไม่มีความเข้าใจในระบบการค้าข้าวอย่างถ่องแท้บังคับใช้กฎหมาย อาจจะทำให้โรงสีหรือผู้ซื้อข้าวเปลือกไม่กล้าที่จะซื้อข้าวเปลือกที่ดูแล้วว่าคุณภาพอาจจะไม่เข้าเกณฑ์ หรือตกเกรด ซึ่งจะส่งผลเสียส่วนใหญ่ต่อเกษตรกรโดยตรง
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า สมาคมเพิ่งจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการยกร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเท่าที่ศึกษาสาระสำคัญในกฎหมายไม่ได้มีเนื้อหาที่จะมากำกับดูแลทางผู้ส่งออกข้าวมากนัก แต่เน้นไปที่การกำกับดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการกำกับในกฎหมายใหม่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าข้าวในปัจจุบันมากนัก
หากรัฐบาลจะเข้าไปกำกับดูแลการรับซื้อข้าวเปลือกตามระดับความชื้นอย่างนี้จะส่งผลทางปฏิบัติแน่นอน เพราะโดยปกติผลผลิตข้าวนาปีจะทะลักออกสู่ตลาดพร้อมกัน คราวละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตันข้าวเปลือก ถ้าจะกำกับดูแล ต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปประจำจุดรับซื้อ ซึ่งมีจำนวนมาก หรือหากให้มีบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกก็จะกลายเป็นต้นทุนของชาวนา ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบไม่ต่ำกว่าตันละ 20 บาท และประเทศไทยไม่เคยมีเซอร์เวเยอร์ข้าวเปลือกมาก่อน หากรัฐกำหนดให้มีขั้นตอนนี้ก็อาจจะกลายเป็นช่องทางที่นำไปสู่การทุจริตในอนาคต”
เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์จริงหรือ จากมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพบว่า ไม่สอดรับกับบริบทการค้าข้าวในปัจจุบัน และนำไปสู่อุปสรรคการค้าข้าวในอนาคต เสี่ยงต่อการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นจุดโหว่ ดังนั้นหากภาครัฐมีเจตนารมณ์ที่ดีควรทีจะหาข้อมูลให้ครบไม่ใช่สักแต่จะเสนอร่างกฏหมายเพื่อทำแต้มว่าสนช.ชุดนี้ออกกฏหมายมากที่สุดเพียงอย่างเดียวเพราะปัญหาที่ตามมามันจะหนักกว่าที่คิดมากนัก จากช่วยชาวนาจะเป็นการซ้ำเติมชาวนาไทยในที่สุด