เว็บไซต์ 1morenews.com เปิดเผยบทสัมภาษณ์ หนึ่งในทนายความที่ทำคดีให้กับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถึงกรณีเบี้ยปรับของ กยศ. ที่ถูกมองว่ามีอัตราเบี้ยปรับที่สูงเกินไป โดยหากมีหนี้คงค้างไม่เกิน 1 ปี 12% และ หากเกิน 1 ปี จะโดน 18% ต่อปีว่า
ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่วงการกฎหมายรู้กันดีว่า เมื่อขึ้นศาลแล้ว ค่าเบี้ยปรับ กยศ. ส่วนใหญ่ ศาลท่านจะให้ความเมตตาลดลงมาเหลือ 7.5 % ต่อปี เท่ากับ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดเอาไว้ ซึ่งเป็นเหมือนกรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต สัญญาเงินกู้ หรือ สินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ศาลท่านจะเมตตากับลูกหนี้ ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้
ทางสำนักงานทนายความ ไม่สามารถทำอะไรเป็นอื่นไปได้เลย เพราะอันนี้มันเป็นกฎหมายเฉพาะของ กยศ. ในการกำหนดค่า “เบี้ยปรับ”กรณีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากมองในประเด็นว่าดอกเบี้ย 1% นี้มันก็อาจจะสมเหตุสมผล เพราะดอกเบี้ยถูก ค่าปรับก็น่าจะแพง แต่หากมองในแง่ของเป็นนโยบายรัฐ เป็นการสร้างบุคลากรประเทศ อันนี้คงจะขึ้นกับฝ่ายนโยบาย รัฐบาล รัฐสภา ที่จะกำหนดออกมา เรามีหน้าที่ทำตามกฎหมายที่ได้บัญญัติเอาไว้
นอกจากนี้ บางคนอาจจะมีโอกาสในชีวิตน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ หรือประสบปัญหาในชีวิต คนไม่สามารถชำระหนี้ให้กับ กยศ.ได้ แต่ทางทนาย เมื่อรับคดีมา เราก็ไม่ได้มีเงื่อนไขจาก กยศ.ว่า หากไปเจอคนที่เขามีปัญหาชีวิตแบบต่าง ๆ 1, 2, 3 ให้ทนายยังไม่ต้องไปดำเนินการ หรือ ให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร ทนายก็ต้องทำไปตามระเบียบ ตามสัญญา ที่มีกับ กยศ.
การแก้ปัญหาของ กยศ.ตอนนี้คือทำแบบ เคสบายเคส เช่นกรณีครูวิภา เกิดขึ้นจนถึงขึ้นตอนที่ไปยึดโฉนด แล้วก็มาแก้ปัญหาในกรณีครูวิภา แต่มันจะแก้ได้ทุกกรณีหรือไม่ เพราะที่สุดลูกหนี้ไม่จ่ายก็ต้องไปบังคับคดี แล้วไปไล่จากลำดับต่อ ๆ ไป ก็คือคนค้ำประกันอยู่ดี
อย่างเรื่องเบี้ยปรับ 12-18% นี่ก็เหมือนกัน คือมันเป็นไปตามกฎหมายของ กยศ. ตอนไปกู้ก็ทราบกัน เพราะเขาเขียนเอาไว้ในสัญญา แต่มันจะถูกลดให้โดยศาล ถามว่าทำไม่กำหนดให้ถูกกว่าหนี้บัตรเครดิต หรือ หนี้สถาบันการเงิน อันนี้ก็ขึ้นกับผู้บริหารประเทศในสมัยก่อนกำหนดกันมา
เงินจากเบี้ยปรับ มันมีเพิ่มขึ้น ถูกส่งไปที่ไหน เท่าที่ทราบ รายได้ที่เพิ่มขึ้น จากเบี้ยปรับ ก็จะไปเข้า กยศ.ซึ่งหน่วยงานนี้ก็ไม่ได้มีหน้าที่แสวงหากำไรเหมือนสถาบันการเงินอยู่แล้ว ทางเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเอาไปทำอะไรต่อ
“ทั้งหมดมันอยู่ที่ฝ่ายนโยบายจะพิจารณาแบบไหนอย่างไร เช่นออกกฎระเบียบมาเลยว่า เบี้ยปรับเหลือน้อยสุดได้แค่ไหน คนมีรายได้น้อยแค่ไหนจะให้พักหนี้ไปก่อน คนมีรายได้เยอะพร้อมที่จะจ่ายก็ไม่ต้องไปทำอะไร คือแยกกลุ่มคนออกมา แล้วแก้ไขกฎหมาย ทุกคนก็จะทำไปตามนั้น แต่วันนี้เมื่อไม่มีอะไรชัดเจนก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ เขาไม่ได้บอกลูกหนี้คนใดที่สืบทราบมาแล้วว่าจนจริง ลำบากจริง ให้ผ่อนผันไปก่อน ไม่มีนะ เราก็ต้องทำเหมือนกันทุกคน มาตรฐานเดียวกัน มีโพยกำหนดเลยว่า เป็นหนี้เท่านี้ต้องจ่ายรายเดือนแบบนี้ ห้ามเบี้ยวอีกนะแม้แต่งวดเดียว ซึ่งหากทนายไม่ทำก็กลายเป็นทนายผิดสัญญากับ กยศ.ไปอีก”หนึ่งในทีมทนายที่ทำคดีให้กับ กยศ.กล่าว