ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Pornson Liengboonlertchai ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมแถลงผลงาน 4 ปี วันที่ 27 กันยายน โดยเฉพาะผลงานการมีกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในขณะนี้กว่า 300 ฉบับว่า
จริงๆ จำนวนกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า หากยิ่งออกมาก ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ (หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บน “หลักความมีประสิทธิภาพของกฎหมาย” ผ่านแนวคิดการประเมินผลกระทบตัวบทกฎหมาย หรือ RIA นั้นเองก็สะท้อนนัยอยู่แล้วว่าปริมาณของตัวบทกฎหมายมิใช่ตัวชี้วัดที่บ่งบอกอะไร ได้ กลับมีความหมายในทางกลับกันเสียด้วยซ้ำไป)
หากจะกล่าวตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ประเด็นนี้ถูกจัดอยู่ในเรื่องของ “การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีประสิทธิภาพ” หรือ “Legislative Effectiveness” จริงอยู่ว่าการจะพิจารณาว่ารัฐสภานั้นทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไรเรื่องหนึ่งที่ต้องไปตรวจสอบดูคือ เรื่องของการออกกฎหมาย แต่หาใช่เรื่องเดียวที่เข้าไปดูแล้วบอกว่ารัฐสภานี้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย เพราะนอกจากการดูเรื่องของการดูการออกกฎหมายแล้วก็ยังต้องไปดูเรื่องอื่นๆ อีก อาทิ งบประมาณ, การตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ การทำหน้าที่แทนราษฎร ฯลฯ ซึ่งในประเทศไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างครบถ้วนกระบวนความเวลาจะพิจารณาดูการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative Performance)
หรือแม้แต่การจะโฟกัสไปที่การพิจารณาถึงเฉพาะการออกกฎหมายเท่านั้น ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญเองก็ยังมีมากมายหลายมิติและลึกซึ้งที่จะต้องไปพินิจพิเคราะห์กันที่ในประเทศไทยยังค่อยไม่รู้จักในนาม กล่าวคือ ตามหลักการว่าด้วยฝ่ายนิติบัญญัติประกอบไปด้วย “องค์ความรู้ว่าด้วยการตราตัวบทกฎหมาย” (Science of Legislation) ที่กำหนดหลักการการออกกฎบัตรกฎหมายของรัฐสภาว่าต้องคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง เช่น มิติในเชิงรูปแบบ มิติในเชิงเนื้อหา ทั้งสองมิตินี้พึงต้องถูกนำมาวิเคราะห์ควบคู่กันเพื่อนำไปสู่การชี้ว่าการออกกฎหมายของรัฐสภานั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร