นับถอยหลังจากนี้อีกเพียง 6 เดือน ก็จะเข้าสู่โหมดการเมือง เตรียมเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ส่งผลให้พรรคการเมืองกระตือรือร้น ในการจัดทีมงาน เตรียมผู้สมัคร นัดประชุมวางแผน พร้อมกำชับผู้สมัคร ส.ส.อยู่ในพื้นที่ ห้ามไปไหนเตรียมเข้าสนามเลือกตั้ง
แต่กระนั้นก็ตาม หากดูกติกา จะพบว่า คสช.ยังคงอำนาจไว้ ยังคงคำสั่งไว้ ส่งผลให้ ไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองสักเท่าใด กิจกรรมใหญ่ๆ ที่จำเป็นถูกควบคุม ห้ามดำเนินการ ต้องรอการคลายล็อกและปลดล็อกข้อห้าม คำสั่ง คสช.
กระนั้นก็ตามด้วยการที่กลุ่มการเมืองที่ใกล้ชิดกับคสช.หรือผู้มีอำนาจเดินหน้าหาเสียง โดยมีบรรดาข้าราชการอำนวยความสะดวกให้ก็ยังไม่อาจจะบอกได้ว่าจะได้ใจชาวบ้านมากแค่ไหน
เพราะสุดท้ายคำว่า “รับเงินหมา กาพรรค…..”ก็ยังคงใช้ได้
นอกจากนี้ การที่ ประเทศห่างเหินจากบรรยากาศทางการเมือง ไม่มีหย่อนบัตรมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 บ้านเมืองย่ำเท้าอยู่ในวังวนการปกครองพิเศษ โดยรัฐบาล คสช.มากว่า 4 ปี ยาวนานกว่าการรัฐประหารครั้งใดๆ ฝีมือการบริหารราชการแผ่นดิน จัดการแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัย ฝ่ายต่างๆ เร่งเร้า โหยหา
ดังนั้น การตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จึงพิเศษกว่าครั้งใด เป็นการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศจับตามอง ถึงการกลับเข้ามาสู่เส้นทางประชาธิปไตยของประเทศไทย เนื่องจาก เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ทำโค่นล้มยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองเพราะ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ภายใต้กติกาใหม่ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 กฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุด ฉบับปฏิรูป ที่พิเศษสุดคือ เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ตามบทเฉพาะกาล ให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้เข้ามาทำหน้าที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ
นอกจากนี้ ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่กรรมการกลาง ผู้ยกเหตุผล ข้ออ้างจำเป็นต้องรัฐประหาร เนื่องจาก บ้านเมืองมีความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างรุนแรง จึงต้องแก้ไข ยุติปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นด้านหลัก แต่ก็จัดการ เช็กบิลนักการเมืองซีกที่โค่นล้มไป โดยที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นคดีการเมือง การเลือกตั้ง 24 กุมภาฯ จึงพิเศษยิ่งกว่าการตัดสินปัญหาการเมืองครั้งใด
การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเดิมพันหลายฝ่ายภายใต้ สโลแกนที่ฝ่ายการเมืองกำลังสร้างขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ จะเลือกการปกครองแบบไหน แบบ คสช.หรือ ประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่ฝักใฝ่ คสช.ก็ต้องการเดินนเกมคุมอำนาจแบบเดิม และต้องการล้างพิษการเมือง แบบไม่อยากให้เสียของ ยังเป็นเดิมพัน ของฝ่ายประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองล้างพิษ คสช.ด้วย ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ง่ายทั้ง 2 ฝ่าย
เนื่องจากกติกาใหม่ ให้ความสำคัญกับการรวบรวมเสียงในสองสภารวมกัน ไม่ให้ความสำคัญกับ เจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ส.ส. ทางเดียวที่พอเป็นไปได้ ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อทำลายคะแนนจัดตั้งไม่ให้มีความหมาย จากการใช้กลไก เครือข่ายอำนาจรัฐหากประชาชนใช้สิทธิมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เจตนารมณ์ การแสดงออกนั้น ไม่สูญเปล่าแน่นอนเสียงที่แปรเป็นที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่งในฝ่ายเลือกตั้ง จะกระหึ่มดังเป็นพลัง ข่มเสียงจัดตั้งของ ส.ว.ในรัฐสภาถึงตั้งรัฐบาลได้
เพราะด้วยกติกาที่กำหนดไว้ บรรดา สนช.มีการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่าให้ส.ว.เข้ามามีส่สวนในการสรรหานายกรัฐมนตรีตั้งแต่รอบแรกคือ คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 376 เสียงหรือกึ่งหนึ่งของสภา แต่ก็ไม่ง่ายดอกครับเพราะเอาเข้าจริงๆหากพรรคการเมืองมีเสียงสนับสนุนมากกว่า 250 เสียงบอกได้เลยว่า รัฐบาลที่มาจากการร่วมมือกับ ส.ว.ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ฝ่ายคุมอำนาจกำหนดกติกา อาจตกม้าตายด้วยกติกาที่ฝ่ายอำนาจตกม้าตายได้
บทความโดย : วัฒนา อ่อนกำปัง