นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ที่มีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบการจัดสรรงบให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2563 รวม 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดสรรงบดำเนินการโครงการของจังหวัดต่างๆ 19,600 ล้านบาท จัดสรรให้กับกลุ่มจังหวัด 8,400 ล้านบาท
“สำหรับการจัดสรรงบให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในปีงบประมาณ 2563 จะให้ความสำคัญกับตัวแปร 6-7 ข้อ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ, นโยบายสำคัญในการพัฒนาภูมิภาค เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี), โครงการอื่นๆที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นแผนหรือโมเดลพัฒนาเชิงพื้นที่ เช่น แม่ฮ่องสอนโมเดล กาฬสินธุ์โมเดล, การแก้ปัญหาความยากจน โดยจัดสรรงบตามรายได้เฉลี่ยต่อหัว โดยจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ จะได้รับการจัดสรรค่อนข้างมาก”
ส่วนการเสนอโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จะต้องมีความพร้อมในทุกๆด้าน และไม่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อแจกจ่ายประชาชน หรือใช้งานตามภารกิจ ไม่เป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ปรับปรุง ก่อสร้าง อาคารหรือสถานที่ราชการ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดต้องทำคำขอจัดสรรงบ ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. นี้ จากนั้น ก.บ.ภ.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือน ก.พ. 2562
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการทำงานในห้วงต่อไปว่า แผนในการจัดทำโครงการงบประมาณต้องมีความชัดเจนและง่ายในการบริหาร โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง รวมทั้งต้องมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ และการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ไปสู่วิสัยทัศน์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้คือมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความสอดคล้องกันทั้งของส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น และปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและพื้นที่
“สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรจะเพิ่มศักยภาพของพื้นที่เกิดขึ้นมาให้ได้ และให้เกิดการเชื่อโยงอย่างไร้รอยต่อครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพ กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น”
ขณะเดียวกันให้นำข้อมูล Big Data ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ และโอกาสที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในการจัดทำแผนงานโครงการ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงห่วงโซ่ พื้นที่ ประชาชนในแต่ละอาชีพและรายได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การใช้การตลาดนำการผลิต ทั้งนี้เพื่อยกระดับประชาชนให้พ้นจากความยากจนให้ได้โดยเร็วที่สุด และให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต เพื่อร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน
ขอบคุณ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์