นายเกษม มาลัยศรี อดีต ส.ส., ส.ว. จังหวัดร้อยเอ็ด และแกนนำกลุ่มสามมิตรภาคอีสาน แสดงความไม่สบายใจ กังวล ว่า ส.ส. –ส.ว. จะไม่มีที่ทำงาน เนื่องจากสภาใหม่ สร้างไม่เสร็จ
เป็นอารมณ์จิกกัด กระทบชิ่งถึงคู่แข่งทางการเมือง พอแสบคัน แต่ก็ทำให้ต้องมาดู “ความจริง” กันว่าเกิดอะไรขึ้นกับการก่อสร้างสภาใหม่
สัปปายะสภาสถาน หรือ สภาแห่งใหม่ เป็นโครงการก่อสร้าง แทนที่อาคารเดิม(สวนสัตว์ดุสิต )ตั้งอยู่ริ่มฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนทหาร(เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต
จนถึงวันนี้ ฝ่ายที่รับผิดชอบมีการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เนื่องด้วยรัฐบาลหวังให้เป็นหน้าตาของประเทศ และฝ่ายบริษัท “ซิโน-ไทยฯ” ในส่วนของผู้รับผิดชอบด้านการก่อสร้างตัวอาคาร ต้องการให้เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของบริษัท
ความสำคัญสะท้อนผ่านท่าทีของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องลงพื้นที่ดูความคืบหน้าด้วยตัวเองหลายครั้ง
ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในส่วนของการก่อสร้างจุดสำคัญ คือ ห้องประชุมใหญ่ และห้องทำงานที่ต้องเสร็จก่อน เพื่อรองรับการย้ายจากรัฐสภาปัจจุบันมายังรัฐสภาใหม่
อันที่จริงโครงการดังกล่าวควรจะแล้วเสร็จนานแล้ว แต่เพราะติดขัดบางประการ การก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ จึงกลายเป็นดราม่าการเมืองในที่สุด
เรื่องของเรื่อง นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ อธิบายว่า ส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความล่าช้า มาจากการส่งมอบพื้นที่จากรัฐสภาที่ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
รวมทั้งระหว่างการดำเนินการก็พบปัญหาว่าไม่มีที่ทิ้งดินที่มาจากการขุดขึ้นมาจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้างจำนวนกว่า 1 ล้านคิว ซึ่งรัฐสภาไม่สามารถหาพื้นที่ให้บริษัทนำดินไปเททิ้งในพื้นที่ที่ทางรัฐสภากำหนดไว้ได้ตามสัญญา
ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก
ทั้งนี้ หากการก่อสร้างเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ อาคารต้องแล้วเสร็จไม่เกินปี 2559
แต่จากการส่งมอบพื้นที่และปัญหาพื้นที่รองรับดินที่กล่าว จึงเสียเวลาในการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 1,200 วัน หรือมากกว่า 3 ปี
ตรงนี้ทางบริษัทเสียหายมาก
เพราะในธุรกิจการก่อสร้างไม่มีผู้รับเหมาคนใด ต้องการส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนด เพราะยิ่งช้า หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะบริษัทต้องจ่ายค่าแรง ค่าบำรรุงรักษาเครื่องจักร ทั้งที่ไม่สามารถทำงานได้
กลายเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
อย่างไรก็ตามบริษัทได้เร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาใหม่ เพื่อให้ข้าราชการและสมาชิกสภาได้เข้ามาทำงาน
เป็นความมั่นใจจากนายภาคูมิ ศรีชำนิ ตัวแทนจาก “ซิโน-ไทยฯ”
ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้โครงสร้างภายนอกของอาคารรัฐสภาใหม่ มีความคืบหน้าไปมาก งานตกแต่งภายใน ได้เร่งรัดให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ โดยเฉพาะห้องประชุมจันทรา หรือห้องประชุม ส.ว. ความจุ 300 ที่นั่ง ห้องประธานกรรมาธิการ ห้องทำงานสมาชิก ห้องทำงานข้าราชการวุฒิสภา จะให้ย้ายข้าราชการมาปฏิบัติหน้าที่บางส่วนภายในปี 2561 ส่วนห้องสุริยัน หรือห้องประชุม ส.ส.ความจุ 800 ที่นั่ง จะเร่งรัดให้เสร็จสิ้นในเดือน มี.ค. 62
ด้วยเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ดังนั้นการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ทุกฝ่ายจึงให้ความสำคัญอย่างมาก พร้อมกับให้คำมั่นว่า หลังเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ได้นั่งทำงานในสภาใหม่แน่นอน
นายเกษม มาลัยศรี ไม่ต้องเป็นห่วง
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับ “นักการเมือง” รวมถึงนายเกษม จึงไม่ใช่เรื่อง “ที่ทำงานใหม่” แต่เป็นเรื่องของประชาชนจะเลือกเข้ามาทำงานหรือไม่
Ringsideการเมือง