นางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีสถิติการใช้หุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรรมสูงที่สุดในมีสัดส่วนถึง 19% แต่กลับมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีการจดสิทธิบัตรเพียง 0.06% ของจำนวนสิทธิบัตรเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทั้งหมด 160 ฉบับเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
ประกอบกับไทยเองก็มีบุคคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญและ มีองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ในระดับสูง การสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยให้สามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจหรืองานวิจัย ตลอดจนนำไปใช้ต่อยอด และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุปกรณ์ เครื่องมือ และหุ่นยนต์ทาง การแพทย์ เพื่อดูแลผู้สูงอายุได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานต่อไป
ทั้งนี้ ในวันที่ 14 กันยายน กรมฯจัดสัมมนาเรื่อง การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ “Tech-Insight #2 : Robotics for Aging Society” ซึ่งผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างล้นหลามกว่า 170 คน ทั้งจากผู้ประกอบการในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัย และผู้สนใจทั่วไป
โดยนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ ภาพรวมของสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสของเทคโนโลยี แนวโน้มความน่าสนใจของเทคโนโลยีในระดับมหภาค รวมถึงนำเสนอข้อมูลประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาและการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ปัญหา อุปสรรค เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนานำข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจหรืองานวิจัย ตลอดจนนำไปใช้ต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอุปกรณ์/เครื่องมือ/หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และผู้สูงอายุที่ต้องดูแล
ขอบคุณข้อมูล : มติชน