รายงานข่าวเปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยกำหนดให้ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวน 350 คน แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนส.ส. 1 คน จังหวัดใดมีจำนวนส.ส.ได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวนส.ส.ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวนส.ส.ที่พึงจะมี โดยใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 66,188,503 คน เป็นฐานในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 189,110 คน ต่อส.ส. 1 คน
ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนส.ส.ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งสิ้น 23 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เดิม 33 คน เหลือ 30 คน กระบี่ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน กาฬสินธุ์ เดิม 6 คนเหลือ 5 คน ชัยภูมิ เดิม 7 คน เหลือ 6 คน เชียงใหม่ เดิม10 คนเหลือ 9 คน ตรัง เดิม 4 คน เหลือ 3 คน นครราชสีมา เดิม 15 คน เหลือ 14 คน นครศรีธรรมราช เดิม 9 คน เหลือ 8 คน นนทบุรี เดิม 7 คน เหลือ 6 คน บุรีรัมย์ เดิม 9 คนเหลือ 8 คน พระนครศรีอยุธยา เดิม 5 คน เหลือ 4 คน เพชรบูรณ์ เดิม 6 คนเหลือ 5 คน แพร่ เดิม 3 คนเหลือ 2 คน ร้อยเอ็ด เดิม 8 คน เหลือ 7 คน เลย เดิม 4 คน เหลือ 3 คน สกลนคร เดิม 7 คนเหลือ 6 คน สระบุรี เดิม 4 คนเหลือ 3 คน สุพรรณบุรี เดิม 5 คนเหลือ 4 คน สุรินทร์ เดิม 8 คน เหลือ 7 คน อ่างทองเดิม 2 คนเหลือ 1 คน อุดรธานี เดิม 9 คน เหลือ 8 คน อุตรดิตถ์ เดิม 3 คน เหลือ 2 คน และอุบลราชธานีเดิม 11 คนเหลือ10 คน
นอกจากนี้ มี 54 จังหวัดที่มีจำนวนส.ส.เท่าเดิม แม้ในจำนวนนี้จะมี 41 จังหวัด ที่เมื่อนำจำนวนประชากร 189,110 คนมาคำนวณ แล้วเหลือค่าเฉลี่ยที่มีผลทำให้ได้จำนวนส.ส.เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังคงเป็นผลให้มีส.ส.จำนวนเท่าเดิมกับปี 2557 โดย 54จังหวัดประกอบด้วย กาญจนบุรี 5 คน กำแพงเพชร 4 คน ขอนแก่น 10 คน จันทบุรี 3 คน ฉะเชิงเทรา4 คน ชลบุรี 8 คน ชัยนาท 2 คน ชุมพร 3 คน เชียงราย 7 คน ตราด 1 คน ตาก 3 คน นครนายก 1 คน นครปฐม 5 คน นครพนม 4 คน นครสวรรค์ 6คน นราธิวาส 4 คน น่าน 3 คน บึงกาฬ 2 คน ปทุมธานี 6 คน ประจวบคีรีขันธ์ 3 คน ปราจีนบุรี 3 คน ปัตตานี 4 คน พะเยา 3 คน พังงา 1 คน พัทลุง 3 คน พิจิตร 3 คน พิษณุโลก 5 คน เพชรบุรี 3 คน ภูเก็ต 2 คน มหาสารคาม 5 คน มุกดาหาร 2 คน แม่ฮ่องสอน 1 คน ยโสธร 3 คน ยะลา 3 คน ระนอง 1 คน ระยอง 4 คน ราชบุรี 5 คน ลพบุรี 4 คน ลำปาง 4 คน ลำพูน 2 คน ศรีสะเกษ 8 คน สงขลา 8 คน สตูล 2 คน สมุทรปราการ 7 คน สุมทรสงคราม 1 คน สมุทรสาคร 3 คน สระแก้ว 3 คน สิงห์บุรี 1 คน สุโขทัย 3 คน สุราษฎร์ธานี 6 คน หนองคาย 3 คน หนองบัวลำภู3 คน อำนาจเจริญ 2 คน อุทัยธานี 2 คน
สรุปแล้วภาคเหนือเดิมมีส.ส. 36 คน ลดเหลือ 33 คน ภาคอีสานเดิมมีส.ส. 126 คน ลดเหลือ 116 คน ภาคกลางเดิมมีส.ส. 82 คน ลดเหลือ 76 คน ภาคใต้เดิมมีส.ส. 53 คน ลดเหลือ 50 คน และกรุงเทพมหานคร เดิมมีส.ส. 33 คน ลดเหลือ 30 คน ส่วนภาคที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงคือ ภาคตะวันออกมีส.ส. 26 คน และภาคตะวันตกมีส.ส. 19 คน เท่าเดิม
ขั้นตอนต่อจากนี้ตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งจังหวัดแบ่งเขตแต่ละจังหวัดตามจำนวนส.ส.ใน 3 รูปแบบ ภายใน 14 วัน และภายใน 10 วัน รับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง ประชาชน จากนั้นภายใน 3 วัน ผอ.กกต.จังหวัดประมวลความคิดเห็นว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่ รายงานต่อ กกต. โดยกกต.มีเวลา 20 วันในการพิจารณาเพื่อเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด เพื่อประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมใช้เวลา 50 วัน ตามระเบียบของกกต. แต่กกต. คาดการณ์ว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561