เพจ echo เผยแพร่บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตอบคำถามว่า เหตุใดประชาชนส่วนใหญ่ถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี แม้ว่ารัฐบาลจะโชว์ตัวเลขการเติบโตต่างๆก็ตาม ทั้งนี้ รศ.ดร.อภิชาต เรียกสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำนั่นเอง เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมันไม่มาถึงคนข้างล่าง ค่าแรงขั้นต่ำก็แทบไม่ขยับขึ้นนับตั้งแต่ปี 2554 นั่นคือรายได้ของแรงงานนอกภาคการเกษตร เพิ่มขึ้นแค่ 1% ในขณะที่รายได้ของเกษตรกรไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา แปลว่าส่วนใหญ่ของรายได้ที่เพิ่ม มันกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่รวยแล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนยังบ่นว่า “เศรษฐกิจดีขึ้น ตัวเลขดีขึ้น แต่คนก็ยังไม่เห็นได้อะไร”
เมื่อถามว่า ทำอย่างไรรายได้จะกระจายไปที่คนชั้นล่าง รศ.ดร.อภิชาต อธิบายว่า การกระจายรายได้ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง เช่น กติกาที่ไม่เป็นธรรมในเชิงธุรกิจ เช่น กรณีคราฟท์เบียร์ที่ไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะมีกฎหมายที่มากำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี ในกรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน และ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ในกรณี โรงเบียร์ประเภทที่มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน ซึ่งหาคนที่ผลิตได้เยอะขนาดนั้นยาก ฉะนั้น การมีข้อจำกัดแบบนี้มันแปลว่า มีการผูกขาดโดยทุนใหญ่ผู้ผลิตเบียร์หลักในเมืองไทย เพราะไม่มีการแข่งขัน นี่คือกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ขณะที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาด ประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2522 แต่ยังไม่เลยลงโทษใครได้เลย ส่วนภาษีมรดกที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2559 จนถึงทุกวันนี้ มีคนถูกเก็บภาษีมรดกไปแค่ 1 คน นี่คือตัวอย่างของกติกาที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ โครงสร้างค่าใช้จ่ายของรัฐก็มีปัญหา ในประเทศที่เจริญแล้ววิธีการเก็บภาษีหรือการใช้จ่ายภาษี มันช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐทำหน้าที่เก็บจากคนรวยแล้วมาใช้จ่ายให้กับคนจน แต่ประเทศไทยแปลก ที่ค่าใช้จ่ายของภาครัฐไปซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ มันมีความเหลื่อมล้ำทั้งเชิงชนชั้น เก็บจากคนจนในสัดส่วนรายได้มากกว่าคนรวย
นักวิชาการผู้นี้ ระบุอีกว่า เรายังมีความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ โดยกรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 10% เศษๆ แต่รายจ่ายของภาครัฐที่ลงมาที่กรุงเทพฯมันเกิน 50% ในขณะที่ภาคอีสานประชากร 33% มีรายจ่ายภาครัฐลงไปเพียง 10% ต้นๆ อันนี้คือความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ที่เกิดจากโครงสร้างการใช้จ่ายของรัฐ และมันเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้และสินทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์จะยิ่งมหาศาล ซึ่งจากข้อมูลพบว่า กลุ่มคนที่รวยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่จนที่สุด ในด้านรายได้นั้น ห่างกัน 11-13 เท่าตัว ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน เหลื่อมล้ำกันกว่า 70 เท่าตัว ส่วนความเหลื่อมล้ำในการถือครองโฉนด คนที่รวยที่สุด 10%แรกของสังคมไทย ถือครองที่ดินประเภทโฉนด 61% ส่วน 10% ล่างสุด ถือครองที่ดินเพียง 0.1%
“เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สังคมไทยเผชิญมานาน ความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมของไทย มันมีมานานมากแล้ว ในอนาคตก็ไม่มีแนวโน้มจะลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด มันเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับการเมือง การเมืองทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐ รายรับของรัฐ มันเป็นประโยชน์กับคนบางกลุ่ม มันเป็นโทษกับคนบางกลุ่ม นั่นคือปัญหาการเมือง เลยหนีไม่พ้นการใช้การเมืองในการแก้ปัญหา ให้สังคมมันยุติธรรมมากขึ้น” รศ.ดร.อภิชาตกล่าว