จากการที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 350 คน เมื่อมี ส.ส.350 คน ก็ต้องมี 350 เขต ดังนั้น จำนวนเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่จึงลดลง 25 เขต จากรัฐธรรมนูญเดิมที่มี 375 เขต ซึ่งนั่นก็คือ เขตเลือกตั้งจะ “ใหญ่ขึ้น”
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงคำนวนจากฐานประชากร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 60 ซึ่งมีจำนวน 66,188,503 คน หารด้วย 350 จะได้จำนวนเฉลี่ยพี่น้องประชาชน 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน
การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ หลายฝ่ายจับตาไปที่ กกต. โดยประกาศที่ออกมาล่าสุด มี 23 จังหวัดที่เขตเลือกตั้ง “ลดลง” จังหวัดละ 1 เขต ยกเว้นกรุงเทพฯ ส่วนอีก 54 จังหวัด “เท่าเดิม”
ทั้งนี้ 23 จังหวัด ประกอบด้วย
กรุงเทพมหานคร เหลือ 30 คน จากเดิม 33 คน
จ.กระบี่ เหลือ 2 คน จากเดิม 3 คน
จ.กาฬสินธุ์ เหลือ 5 คน จากเดิม 6 คน
จ.ชัยภูมิ เหลือ 6 คน จากเดิม 7 คน
จ.เชียงใหม่ เหลือ 9 คน จากเดิม 10 คน
จ.ตรัง เหลือ 3 คน จากเดิม 4 คน
จ.นครราชสีมา เหลือ 14 คน จากเดิม 15 คน
จ.นครศรีธรรมราช เหลือ 8 คน จากเดิม 9 คน
จ.นนทบุรี เหลือ 6 คน จากเดิม 7 คน
จ.บุรีรัมย์ เหลือ 8 คน จากเดิม 9 คน
จ.พระนครศรีอยุธยา เหลือ 4 คน จากเดิม 5 คน
จ.เพชรบูรณ์ เหลือ 5 คน จากเดิม 6 คน
จ.แพร่ เหลือ 2 คน จากเดิม 3 คน
จ.ร้อยเอ็ด เหลือ 7 คน จากเดิม 8 คน
จ.เลย เหลือ 3 คน จากเดิม 4 คน
จ.สกลนคร เหลือ 6 คน จากเดิม 7 คน
จ.สระบุรี เหลือ 3 คน จากเดิม 4 คน
จ.สุพรรณบุรี เหลือ 4 คน จากเดิม 5 คน
จ.สุรินทร์ เหลือ 7 คน จากเดิม 8 คน
จ.อ่างทอง เหลือ 1 คน จากเดิม 2 คน
จ.อุดรธานี เหลือ 8 คน จากเดิม 9 คน
จ.อุตรดิตถ์ เหลือ 2 คน จากเดิม 3 คน
จ.อุบลราชธานี เหลือ 10 คน จากเดิม 11 คน
จึงคอยลุ้น 23 จังหวัดที่ว่านี้ จะขีดเส้นแบ่งเขตอย่างไร? เพราะทั้งประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทย เคยช่วงชิงความได้เปรียบใน “การแบ่งเขต” มาแล้ว
ที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1812 Elbridge Gerry ผู้ว่าการรัฐ Massachusetts แห่งพรรค Democratic-Republican ได้ลงนามกฎหมายปรับเปลี่ยนการแบ่งเขตเลือกตั้งวุฒิสภาของรัฐในเขตเมืองบอสตัน ว่ากันว่า เขาใช้หลักการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ หวังสะกัดฐานคะแนนของคู่แข่ง เพื่อชัยชนะของตัวเอง ด้วยความบังเอิญ นักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมืองได้วาดล้อเลียนเขตเลือกตั้งที่เกิดขึ้น มีรูปร่างคล้ายตัว “ซาลาแมนเดอร์” จึงเป็นที่มาของ “Gerrymandering” หรือ การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม
ประชาชนทั่วไปอาจสงสัยว่าทำไมการแบ่งเขตถึงสำคัญขนาดนั้น แน่นอนล่ะ สำหรับนักการเมือง นักเลือกตั้ง หรือหัวคะแนน เขาย่อมรู้ว่าพื้นที่ชุมชนไหน นิยมชมชอบใคร เป็นฐานเสียงของใคร ดังนั้น หลักการแบ่งเขตแบบ Gerrymandering คือ การพยายามเอาชนะคู่แข่งด้วยการแบ่งเขตจนผิดธรรมชาติ เช่น “เฉือน” เอาพื้นที่ฐานเสียงของคู่แข่ง มารวมกับฐานเสียงตนเองที่มีมากกว่า ดังนั้น ในเขตเลือกตั้งนี้ นอกจากเราจะชนะแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พรรคของเราในเขตเลือกตั้งที่ติดกันมีโอกาสชนะด้วย เพราะเพิ่งถูกเฉือนแบ่งฐานเสียงของคู่แข่งมา “ละลายน้ำ” ที่เขตนี้
สำหรับประเทศไทย ในการเลือกตั้งช่วงแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถูกครหาเรื่องการแบ่งเขต กล่าวคือ การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ ที่เปลี่ยนจากเขตใหญ่ทั้งประเทศ มาเป็นการออกเป็น “8 กลุ่มจังหวัด” โดยยึดหลักจำนวนราษฎรให้ใกล้เคียงกัน แต่ปัญหาคือมีการแยกหลายจังหวัดในภาคอีสานไปรวมกับภาคตะวันออกหรือภาคกลาง ทั้งๆที่สภาพสังคม เศรษฐกิจและความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุว่า อันที่จริงแล้ว ครั้งนั้นไม่มีความความจำเป็นเลยที่ต้องให้แต่ละเขตมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่ากัน เราสามารถแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดแบบเล็กแบบใหญ่ แล้วก็มีจำนวน ส.ส.แตกต่างกันไปได้ แต่ด้วยความที่ผู้ร่างฯ กำหนดมาแบบนั้น มันเลยทำให้เกิดปัญหาการแบ่งเขตข้ามภาค ซึ่งทำให้ถูกตีความว่าอาจจะใช้เทคนิค Gerrymandering หรือไม่
กลับมาที่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ความหวาดระแวงเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ อย่างที่ จ.อุตรดิตถ์ นายชัยภูมิ ศรีวิจิตร ประชาชนชาว ต.ป่าเซ่า อ.เมือง ระบุว่า อุตรดิตถ์ เหลือ ส.ส.เพียง 2 คนจากแต่ก่อน 3 คน แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาคือ จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จาก 3 เขตให้เหลือ 2 เขต ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกมารูปแบบใด และห่วงว่า กกต. จังหวัด จะทำงานไม่โปร่งใส เพราะมีบางขั้นตอนที่ปิดไว้เป็นความลับทางราชการ
อย่างไรก็ตาม “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561” กำหนดว่า “จังหวัดใดมีส.ส.ได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนส.ส.ที่พึงมี โดยให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน โดยให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง คำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้
(2) ในกรณีที่การกำหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ (1) จะทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด”
แปลว่า กกต.พยายามจะแบ่งเขตเลือกตั้งโดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แต่ทว่า ด้วยหลักการเกลี่ยจำนวนประชากรแต่ละเขตให้ใกล้เคียงกันให้ได้มากที่สุด จึงเป็นไปได้ว่าจะมี “บางตำบล” ซึ่งปกติสังกัดอำเภอ ก. แต่เวลาเลือกตั้ง อาจต้องไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนกับ อำเภอ ข. ก็เป็นได้
อีกประการที่น่าคิดตามคือ ในพื้นที่จังหวัดหนึ่งๆ พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนที่อาศัยในเขตเมืองกับอำเภอรอบนอก ค่อนข้างต่างกัน รวมถึงความกระตือรือล้นออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ต่างกัน ตรงนี้เองที่ ดร.สติธร ระบุว่า ถ้าจะใช้เทคนิคกันจริงๆ ก็สามารถเฉือนเขตเมืองไปผสมกับเขตชนบทเพื่อหวังผลบางประการได้เช่นกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ คงต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ เพราะประชาชนอาจจะยังสับสนเพราะไม่คุ้นชินกับเขตเลือกตั้งใหม่ บวกกับกติกาใหม่ที่กำหนดว่า “แม้พรรคเดียวกัน แต่หมายเลขผู้สมัครแต่ละเขตไม่เหมือนกัน” ทำให้พรรคการเมืองเองก็ต้องทำการบ้านหนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรจะเริ่มจากบรรยากาศทางการเมืองที่คึกคัก ให้สมกับเป็นวันเลือกตั้งที่หลายคนรอคอย ไม่ใช่แค่การ “คลาย-ปลด” เพราะเมื่อผวนดูแล้ว ดูเหมือนจะเป็นคำที่ไม่เป็นมงคลสักเท่าไหร่
โดย เชือก โชติช่วย 22 ก.ย.2561