ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวผ่าน “Workpoint news” ถึงรูปแบบการจ่ายหนี้เพื่อการศึกษา ซึ่งรัฐไทยสมควรนำมาปรับใช้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ มีโอกาสในการชำระหนี้มากขึ้น ใจความว่า
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือกองทุน กยศ. ของประเทศไทย ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมต้องมีบุคคลที่เป็นผู้ค้ำประกัน ผลจากเงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้ผู้ค้ำประกันส่วนหนึ่งต้องแบกรับภาระในทางคดีความ อันเนื่องมาจากการถูกฟ้องร้องจากกองทุน กยศ. ในท้ายที่สุดกองทุน กยศ. ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงควรสำรวจว่าในประเทศที่มีระบบการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานั้น รัฐได้วางกฎเกณฑ์หรือกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินเช่นใด
มาเลเซีย
PTPTN (National Higher Education Fund Corporation) เป็นสถาบันของรัฐที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียนชาวมาเลเซีย มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแบบคงที่ 1% หากผู้กู้ชำระเงินกู้ทั้งหมดภายใน 6 เดือนหลังจากจบการศึกษาจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย 1% กล่าวคือ กลายเป็นการกู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบไม่มีดอกเบี้ย นอกจากนี้หากผู้กู้ยืมได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเงินกู้ยืมจะถูกแปลงเป็นทุนการศึกษาได้รับการยกเว้นการจ่ายเงินคืนเงินกู้
ทั้งนี้จำนวนเงินที่ให้ทำการกู้ยืมขึ้นอยู่กับ
- รายได้ครัวเรือน ถ้าครอบครัวมีฐานะยากจนก็จะสามารถทำการกู้ยืมได้มากขึ้น
- เงินให้กู้ยืมสำหรับสถาบันการศึกษาเอกชนจะมีอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการกู้ยืมเพื่อไปเรียนในสถาบันการศึกษาของรัฐ เนื่องจากค่าเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาเอกชนมีอัตราที่สูงกว่า
- หลักสูตรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์จะกำหนดจำนวนให้กู้ยืมสูงกว่าหลักสูตรด้านมนุษยศาสตร์
การได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในระหว่างการศึกษาผู้กู้ยืมต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.0 มิฉะนั้นจะไม่ได้รับเงินกู้ยืมสำหรับภาคการศึกษานั้นๆ หากเกรดกลับมาสูงกว่า 2.0 ในภาคการศึกษาที่ตามมา ผู้กู้ยืมจะได้รับคืนสถานะการกู้ยืมเงินเช่นเดิม
หากผู้กู้ไม่จ่ายคืนเงินกู้ยืมจะได้รับการแจ้งเตือนและอาจขึ้นบัญชีดำ (blacklist) ต่างๆ และถูกปรับ รวมถึงการถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกจากประเทศโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และห้ามต่ออายุหนังสือเดินทางด้วย
ออสเตรเลีย
การชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้จะผูกกับมาตรการทางภาษี โดยดูจากจำนวนเงินรายได้ของผู้กู้ยืม หากถึงเกณฑ์ที่กำหนด แม้ว่าผู้กู้ยืมกำลังศึกษาอยู่ ก็ต้องชำระเงินกู้ยืมเช่นกัน หากผู้กู้ยืมมีรายได้สูง การชำระเงินกู้ยืมกลับคืนก็จะสูงตามด้วย
นอกจากนี้ หากผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติหรือวิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษา การพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ หรือการศึกษาปฐมวัย ผู้กู้ยืมจะได้รับประโยชน์ โดยรัฐจะลดจำนวนเงินที่เคยกู้ยืมลง
นิวซีแลนด์
นักศึกษาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การให้กู้ยืม ได้แก่
- นักศึกษาที่เรียนเต็มเวลา สามารถทำการเงินกู้ยืมได้ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ
- นักศึกษาที่เรียนนอกเวลา สามารถกู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียน
กรณีที่ผู้กู้ยืมพักอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศ การกู้ยืมเหล่านี้จะไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ย เงินกู้จะทำการชำระคืนเมื่อผู้กู้เริ่มทำงานและมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (ปัจจุบันเกณฑ์อยู่ที่รายได้มากกว่า 19,448 ดอลล่าร์นิวซีแลนด์ต่อปี) ซึ่งนายจ้างจะหักเงินกู้ยืมจากเงินเดือนในอัตราคงที่ เงินกู้ยืมที่ถูกหักเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมโดยหน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีของรัฐ
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเดินทางออกนอกประเทศนานกว่า 184 วัน (6 เดือน) จะต้องทำการชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย การจ่ายเงินคืนนี้อาจหยุดพักชั่วคราวได้หากผู้กู้ยืมไม่มีรายได้ในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ แต่ดอกเบี้ยที่ต้องชำระพร้อมต้นเงินกู้ดังกล่าวยังคงเดินหน้าต่อไป
สหราชอาณาจักร
เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสหราชอาณาจักรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยเมื่อหน่วยงานได้ทำการชำระเงินงวดแรกให้แก่ผู้กู้ยืมจนกระทั่งเมื่อผู้ได้รับเงินกู้ยืมเต็มจำนวน แต่การชำระหนี้จะเริ่มต้นในปีภาษีถัดไปหลังจากที่ผู้กู้ยืมได้สำเร็จการศึกษาหรือเลิกศึกษาต่อ ซึ่งจำนวนในการชำระหนี้จากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาขึ้นอยู่กับว่าผู้กู้มีรายได้เท่าไร ไม่ได้พิจารณาจากจำนวนที่กู้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด ในกรณีที่มีรายได้เหนือกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (ในปัจจุบันอยู่ที่ 25,000 ปอนด์ต่อปี) นายจ้างของผู้กู้ยืมจะดำเนินการหักรายได้ในส่วนดังกล่าวของผู้กู้ยืมพร้อมกับภาษีและประกันสุขภาพให้กับรัฐ หากผู้กู้หยุดทำงานหรือได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์การชำระคืน ผู้กู้จะไม่ต้องจ่ายเงินที่กู้ยืมเพื่อการศึกษา จนกว่าจะได้รับรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดอีกครั้ง ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับดัชนีราคาค้าปลีกในสหราชอาณาจักร (Retail Price Index (RPI)) ซึ่งเป็นมาตรการในการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับปรุงปีละหนึ่งครั้งในเดือนกันยายน
หากผู้กู้ทำการกู้ยืมเงินก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2550 การชำระหนี้อาจสิ้นสุดลง เมื่อ
- ผู้กู้มีอายุ 65 ปี
- ผู้กู้เสียชีวิต หรือ
- ผู้กู้เป็นผู้พิการถาวรและไม่สามารถทำงานได้
หากผู้กู้ยืมเงินหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2550 การชำระหนี้อาจสิ้นสุดลง เมื่อ
- ผู้กู้ยืมมีอายุ 35 ปี (ในส่วนของรัฐบาลสก็อตแลนด์มีความพยายามที่จะลดระยะเวลาดังกล่าวเป็น 30 ปีภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561)
- ผู้กู้เสียชีวิต หรือ
- ผู้กู้เป็นผู้พิการถาวรและไม่สามารถทำงานได้
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ทำการชำระหนี้ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีสิทธิเร่งรัดหนี้ของผู้กู้ยืม กล่าวคือ ดำเนินการโดยให้ศาลออกคำสั่งเพื่อให้ผู้กู้ยืมทำการชำระคืนเงินกู้ในงวดเดียว ลักษณะนี้เป็นมาตรการทางแพ่งซึ่งใช้กับบุคคลผู้กู้ยืมทั้งที่อยู่ในและนอกสหราชอาณาจักร
สหรัฐอเมริกา
การชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเริ่มต้นเมื่อผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาหรือลงทะเบียนเรียนที่มีจำนวนหน่วยกิต ลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดีในบางมลรัฐจะกำหนดช่วงเวลาผ่อนผันเพื่อช่วยให้ผู้กู้ยืมมีเวลาในการชำระเงินและเลือกแผนการชำระหนี้ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าในช่วงเวลาการผ่อนผันดังกล่าวด้วย ในกรณีที่ไม่ทำการชำระเงินกู้ยืมหรือชำระล่าช้า สถานะการชำระหนี้จะถูกรายงานไปยังเครดิตบูโร รวมถึงมาตรการทางกฎหมายที่ไปดำเนินการในเรื่องการที่รัฐจะไม่คืนเงินในกรณีที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
แม้ว่าผู้กู้ยืมจะไม่สามารถสำเร็จการศึกษาหรือไม่สามารถหางานทำได้ ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา อย่างไรก็ดีในบางสถานการณ์อาจเป็นเหตุให้ผู้กู้ยืมได้รับการยกเว้นช่วงเวลาหรือจำนวนเงินบางส่วนที่ไม่ต้องชำระเงินกู้ เช่น การเข้ามาเป็นครูภายใต้โปรแกรมที่รัฐกำหนด (Teacher Loan Forgiveness Program) เช่น การสอนหนังสือเต็มเวลา และต่อเนื่องกันเป็นจำนวน 5 ปีการศึกษา ในโรงเรียนที่มีรายได้น้อยหรือในหน่วยงานบริการการศึกษา ผู้กู้ยืมที่เข้าโปรแกรมสอนหนังสือลักษณะนี้ อาจได้รับการยกเว้นหนี้กู้ยืมประมาณ 17,500 ดอลล่าร์สหรัฐขึ้นอยู่กับวิชาหรือหลักสูตรที่สอน
แคนาดา
การชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเริ่มเมื่อผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษา ย้ายไปเรียนนอกเวลา ออกจากสถาบันการศึกษา หรือออกจากสถาบันการศึกษาเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกหลังออกจากสถาบันการศึกษา แม้ผู้กู้ยืมยังไม่ต้องชำระเงินคืน แต่ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมจะยังเดินหน้า ซึ่งผู้กู้ยืมอาจทำการชำระดอกเบี้ยระหว่างนี้ก่อนครบ 6 เดือนก็ได้ ทั้งนี้ผู้กู้ยืมมีทางเลือกในการเลือกอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมว่าต้องการคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ + 5% หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อัตรา + 2.5% อย่างไรก็ดีในบางพื้นที่ของแคนาดาไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยกับผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่อย่างใดในกรณีที่ผู้กู้ยืมชำระเงินกู้ยืมเต็มจำนวนภายในระยะเวลา 6 เดือนแรก รัฐจะไม่คิดดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมต้องจ่ายแต่อย่างใด
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จังหวัดออนตาริโอ (Ontario) จะส่งรายชื่อผู้ผิดนัดชำระหนี้ไปยังเครดิตบูโร ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถทำนิติกรรมบางประเภท เช่น การเช่ารถ การจำนองหรือการทำบัตรเครดิต รวมถึงการไม่สามารถรับเงินคืนจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่วนมลรัฐบริติช โคลัมเบีย รัฐได้อนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถระงับการออกหรือการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้แก่ผู้ที่ไม่ทำการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
จากตัวอย่างของประเทศที่มีระบบการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรปและเอเชีย พบว่า การให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีเป้าหมายเพื่อให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในบางประเทศการกู้ยืมเงินอาจมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำหรือบางประเทศอาจไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด มีข้อสังเกตว่าในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่ทำการชำระต้นเงินกู้ (พร้อมดอกเบี้ย) บทลงโทษที่เกิดขึ้นอาจพ่วงกับมาตรการทางเอกสารราชการ เช่น การห้ามเดินทางออกนอกประเทศของมาเลเซียหรือการห้ามทำนิติกรรมบางประเภทในประเทศแคนาดา แต่ไม่มีประเทศใด กำหนดเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาต้องมีผู้ค้ำประกันดังกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ในบางประเทศยังมีมาตรการจูงใจ เช่น หากทำการชำระต้นเงินกู้ยืมอย่างรวดเร็วจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เช่นในประเทศแคนาดา หรือหากผลการเรียนดีเยี่ยมจะได้รับการปรับเปลี่ยนจากการกู้ยืมเงินเป็นการให้ทุนการศึกษา เช่น ประเทศมาเลเซีย