พาราควอตเป็นส่วนผสมหนึ่งในยาฆ่าแมลง ซึ่งนิยมใช้ในประเทศไทย ด้วยเพราะออกฤทธิ์แรง และเร็ว แมลง และวัชพืชตายเรียบ
ที่ผ่านมาฝ่ายสนับสนุนพาราคควอตมักจะอ้างว่า หากใช้อย่างถูกวิธี สารชนิดนี้ ไม่ทำอันตรายแก่มนุษย์ แต่จริงแค่ไหน เพราะพาราควอตเป็นสารที่ละลายน้ำได้เร็วมาก ทั้งยังฝังติดกับหน้าดินไปอีกหลายปี
จากสถิติพบว่า มีเกษตรกรไทยจำนวนมาก ถูกพาราควอตกัดกินเนื้อเยื้อจนต้องต้องตัดเนื้อเยื่อส่วนทิ้ง ขณะที่เกษตรกรชาวสวีเด็น เสียชีวิตหลังจากใช้สารพาราควอตติดต่อกันนาน 3 ชั่วโมง
ประเทศไทยตื่นตัวกับผลร้ายอันเนื่องจากสารพาราควอตมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ความเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนที่สุด เกิดขึ้นในปี 2560 เมื่อมีมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนักวิชาการ ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
แต่ต่อมาในพฤศจิกายน 2560 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตต่อไปอีก 6 ปีแก่ 3 บริษัท ได้แก่ ซินเจนทา 3 รายการ เอเลฟองเต้ 1 รายการ และ ดาว อโกรไซแอนส์ 1 รายการ ด้วยเหตุผลว่า ปัจจุบันยังไม่มีมติแบนสารพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้บริษัท หน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องได้
จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาอีกหลายหน แต่การเจรจามักไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกันยังมีการแฉกลางวงว่า คณะกรรมการบางคนมีส่วนได้สูญเสียกับบริษัทผู้ค้าสารพาราควอต
คุณสมบัติของพาราควอต คือ เป็นสารเคมีที่เกิดจากการสังเคราะห์โดยบริษัทเชฟรอน เมื่อปี 1882 แต่บริษัทไอซีไอ (Imperial Chemical Industries) ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้ค้นพบคุณสมบัติกำจัดวัชพืชในปี 1955 ก่อนที่จะเริ่มผลิตและจำหน่ายเป็นยากำจัดวัชพืชในปี 1962 ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า
กรัมม็อกโซน (Gramoxone)
ประสิทธิภาพของพาราควอตทำให้เกษตรกรนิยมใช้ เพราะสามารถกำจัดวัชพืชได้รวดเร็ว ด้วยการทำลายคลอโรฟิลล์ที่อยู่ในพืช โดยต้องละลายพาราควอตในของเหลว แต่เนื่องจากพาราควอตละลายน้ำได้ดี จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ง่ายๆ หากคนได้รับพาราควอตเข้าไปแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจเสียชีวิตได้ เพราะพาราควอตมีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีผลร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ทั้งตับ ไต หัวใจและระบบทางเดินหายใจ แม้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อยประมาณมากกว่า 1 ช้อนชาเล็กน้อย (6.15 ซีซี) ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ แม้ความเป็นพิษจะหมดไปเมื่อสัมผัสดิน แต่พาราควอตยังตกค้างอยู่ในดินอีกหลายปี
สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า
จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดิน 65 ตัวอย่าง พบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดิน จากตัวอย่าง 15 แห่ง พบพาราควอต 13 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืช สัตว์ และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้
ล่าสุด หลายประเทศออกกฎหมายแบนพาราควอตอย่างจริงจัง แม้กระทั่งจีน ซึ่งเคยเป็นฐานการผลิตติดอันดับโลก ก็ยุติการใช้สารชนิดนี้
ทว่าในประเทศไทย พราราควอตยังเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
อาหารที่คุณกำลังรับประทาน อาจมีสาร “พาราควอต” ปนเปื้อนอยู่ ก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูล
- The momentum
- This Pesticide Is Prohibited in Britain. Why Is It Still Being Exported?
- Paraquat: A controversial chemical’s second act