ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความลงเว็บไซต์ “กรุงเทพธุรกิจ” ภายใต้หัวข้อ “ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินเดีย” แสดงความเป็นห่วงว่าแม้ประเทศไทย จะมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ แต่ผลลัพท์ที่ได้ อาจไร้ประสิทธิภาพ เพราะทรัพยากรบุคคลยังขาดความพร้อมทางด้านองค์ความรู้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม แต่การจ้างงานมิได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่คาดไว้
“สาเหตุที่ทำให้การจ้างงานไม่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะแรงงานมีทักษะไม่ตรงหรือไม่เพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง โดยทางอินเดียมีข้อจำกัด 3 เรื่อง
เรื่องที่ 1 การจัดการศึกษาในสถานศึกษายังเป็นการสอนภาคทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างทฤษฎีกับการทำงานจริง
เรื่องที่ 2 สถานประกอบการมีความพร้อมไม่เท่ากัน สถานประกอบการขนาดใหญ่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และสถานที่มากกว่าสถานประกอบการขนาดเล็ก ทำให้สถานศึกษาที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่มากกว่าที่จะไปร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดเล็ก
เรื่องที่ 3 บุคลากรในสถานประกอบการไม่ได้ถูกฝึกให้เป็นผู้สอน”
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า ทางอินเดียได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ การจัดระบบรับรองและการประเมินทักษะที่ละเอียดเพียงพอ การกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ การสร้างความยอมรับในการศึกษาสายอาชีพ
สุดท้าย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ข้อจำกัดทั้ง 3 ข้อที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาในอินเดียไม่ต่างจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาในประเทศไทย
ดังนั้น แนวทางทางที่อินเดียจะใช้ในการปรับตัว ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการจัดการสถานศึกษาในบ้านเรา โดยเฉพาะสถานศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีหลายแห่งที่ดูเหมือนกว่าหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ขอบคุณภาพ : salika.co