ย้อนกลับไป 2-3 ปีที่แล้ว หากให้สังคมเดาว่าพรรคไหนจะกลายเป็นนั่งร้านให้พลเอกประยุทธ์
ชื่อของ “ภูมิใจไทย” ต้องปรากฏในโสตการรับรู้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยสังคมติดภาพจำกาลก่อน
อย่างไรก็ตาม จากวันนั้น ถึงวันนี้ ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เกิดแก่พรรคภูมิใจไทย เพราะตั้งแต่ปี 2555 ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล เข้ามากุมบังเหียนพรรค ชื่อชั้นของภูมิใจไทย ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ชัดเจนว่านายอนุทิน ไม่ใช่นักการเมืองที่ย่ำอยู่กับที่ แต่เป็นบุคคลที่แสวงหาความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา
หากอ่านประวัติ นายอนุทิน เคยพาบริษัทพลิกฟื้นจากสถานะล้มละลาย สู่การมีกำไรมากเป็นประวัติกาล ด้วยหลักการบริหารสไตล์ “ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม” หรือเลือกเดินเกมที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป
ก่อนส่งไม้ต่อให้นักบริหารมืออาชีพนอกตระกูลชาญวีรกูล เพื่อให้ตัวเองได้ทำงานการเมืองอย่างเต็มที่
หลักคิดของนายอนุทิน ไม่ต่างจากการเดินหมากรุก ที่คนเก่งมักจะตัดสินใจนานเป็นพิเศษ เพื่อเดินอย่างรอบคอบที่สุด สังคมจึงไม่เคยเห็นนายอนุทิน เคลื่อนไหวอย่างผลีผลาม กลับกัน การขยับในแต่ละดอกล้วนสร้างผลกระทบในสนามการเมือง
ปริบททางการเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก ประชาชนเข้ามามีส่วนในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยทีละขยักอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเข้าสู่อำนาจด้วยระบบอุปถัมภ์ชนิดไม่แยแสหัวประชาชน
คือ ทางที่นายอนุทิน “ไม่เลือก”
หากจับสังเกตยุทธศาสตร์ภูมิใจไทย จะเห็นว่า นายอนุทินเลือกเดินหมากชูแนวทางแก้ปัญหาชาติเป็นธงนำ ทั้งเรื่องจัดระเบียบหนี้ กยศ. การสนับสนุนให้ใช้สินค้า MADE IN THAILAND การแนะให้รัฐหยิบกฎหมาย EEC มาใช้กับทุกพื้นที่ เพื่อขยายความน่าลงทุนอย่างเท่าเทียม พร้อมกับเกาะเกี่ยววลีสำคัญ
“ทำได้จริง ทำได้เลย”
สะท้อนว่านายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่นักการเมืองซึ่งอุดมด้วยความหิวโหย พร้อมยกมือให้กับผู้มีอำนาจอย่างไร้เงื่อนไข กลับแต่เป็นนักการเมืองในรูปแบบของ “นักนโยบายนิยม” ให้ความสำคัญกับแนวความคิดด้านการพัฒนาเป็นอันดับแรก และพร้อมจะหอบหิ้ว หลักคิดทั้งหลายไปด้วยทุกที่
การมีแนวทางพัฒนาประเทศที่มั่นคง แน่นอน ช่วยให้การเดินหมากการเมืองง่ายขึ้นนับ 10 เท่า
เพราะพรรคภูมิใจไทย มิได้ต่อรองทางการเมืองด้วยจำนวน ส.ส. ทว่าเลือกใช้นโยบายเป็นเงื่อนไขในการร่วมงานกับอีกฝ่าย
ระหว่างชูแนวทางการพัฒนาประเทศ พรรคภูมิใจไทย ต้องตีกรรเชียงหนีจากการถูกชี้ให้เป็น “ฝ่ายนู้น ฝ่ายนี้” จากบรรดานักจัดวางการเมือง เพื่อรักษาสถานะ “คนกลาง” อย่างเข้มแข็ง
หวังขับเน้นเรื่องของนโยบายให้เด่นกว่าการเป็นพรรคสีเสื้อ แต่กระนั้น ก็ต้องไว้ซึ่งมารยาท การปรับสมดุล ถือเป็นความท้าทาย แต่นายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย สามารถทำได้สำเร็จ
หากจำได้ วันทำบุญใหญ่พรรค ปรากฏภาพนายวัฒนา เมืองสุข เข้าสวมกอดนายอนุทิน จนดูเหมือนว่าภูมิใจไทย ได้เข้าร่วมกับเพื่อไทยแล้ว
แต่กลับตาลปัตร เมื่อนายอนุทิน ไปต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คราวเยือนบุรีรัมย์ จนมีข่าวว่าภูมิใจไทยตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายับรัฐบาลแน่นอน
จนแล้วจนรอด ไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะความนิ่งเงียบของนายอนุทิน และพลพรรคภูมิใจไทย
ต่อมาได้ปรากฏภาพนายอนุทิน พบพลเอกประยุทธ์ ที่ออสเตรเลีย มีข่าวลือว่าเป็นการแอบไปจับมือร่วมด้วยช่วยกันอัดเพื่อไทย
จากนั้น นายอนุทิน ออกมาขยายความว่าเป็นการพบกันเพราะไฟท์บังคับ เนื่องจากมีการประชุมร่วมระหว่างนักธุรกิจไทย ออสเตรเลีย และรัฐบาล ก่อนปรากฏภาพนายอนุทิน ร่วมงานวันเกิด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย
เป็นการพาพรรคภูมิใจไทย มาไว้ในจุดที่นายอนุทินต้องการ
ภาพลักษณ์ของภูมิใจไทยพัฒนาขึ้นมากในรอบขวบปีหลัง ดึงดูดให้นักการเมืองที่วางตัวถอยห่างจากความขัดแย้ง ถูกตาต้องใจ และต้องการมาร่วมงาน เพราะการทำงานภายใต้ชื่อภูมิใจไทย ในยุคสมัยนี้ ไร้แรงเสียดทาน หากเทียบกับการทำงานในชื่อของพรรคซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักทางการเมือง
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีนักการเมืองระดับ “บิ๊กเบิ้ม” เปิดตัวร่วมงานกับพรรคสีน้ำเงินชนิดไม่ขาดสาย จนรองหัวหน้าพรรคอย่างนายทรงศักดิ์ ทองศรี ถึงขั้นระบุว่า
“ไม่รู้สึกเสียดาย กับคนที่โบกมือลาพรรคไป”
สะท้อนความมั่นใจว่าพรรคมีตัวเลือกมากมาย และอยู่ในระดับ “ดี เด่น ดัง”
ว่ากันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสกวาด ส.ส.ทะลุ 40 ที่นั่ง เพราะคนไทยจำนวนมากน่าจะต้องการเห็นนักการเมือง เข้าไปผลักดันนโยบายพัฒนาชาติ มากกว่าการเห็นนักการเมืองเข้าไปเตะปากซัดกัน ต่อยอดความบาดหมางของคนในชาติ
และด้วยจำนวน ส.ส.ขนาดนี้ แนวนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ทั้ง กยศ. ทั้งแก้กฎหมายเอื้อการลงทุนของภาคประชาชน มีโอกาสถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้ “คนภูมิใจไทย” ได้แสดงฝีมือกันอย่างจริงจัง
เหล่านี้เป็นความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ใช่จะสร้างกันได้ง่ายเพียงพลิกฝ่ามือ แต่ต้องอาศัยความอดทน และชั้นเชิง ในการจัดวางที่ทางทางการเมืองของตัวเอง ผสมผสานทั้งเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ กับการวางตำแหน่งแห่งที่ ให้พรรคมีสถานะเป็นตัวกลาง ในฐานะทางเลือกแรกของคนที่ปฏิเสธความขัดแย้งทางการเมือง
ทั้งหมดคือความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทย ในมือคนชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล”
Ringsideการเมือง