นอกจากเรื่องดวงชะตาราศี เชื่อว่าว่าตอนนี้สิ่งที่หลายคนอยากรู้มากที่สุดคือ “ผลการเลือกตั้ง”
ตอนนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เหล่าสื่อสารมวลชน ต่างโชว์ตัวเลขการพยากรณ์ที่นั่งในสภาออกมาค่อนข้างตรงกันว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” เอื้อให้พรรคขนาดกลางอย่าง ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ได้ ส.ส.เพิ่มมากขึ้น หากเทียบจากสถิติเดิม
เสียงโวยวายเริ่มดังกระหึ่ม ว่าเป็นสูตรบ้าบอ บิดเบือน ยิ่งชนะ ยิ่งได้ ส.ส.น้อย เพราะชัดเจนว่า ปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทย ลดฮวบแน่ๆ
จะว่าไปแล้ว เรื่องระบบการเลือกตั้งในทางวิชาการ เขาก็พยายามคิดสูตรที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง “คะแนนเสียง” กับ “จำนวนที่นั่ง” ให้ได้มากที่สุด
กรณีของไทย ถ้าคิดในแง่บวก ผู้ร่างกติกาใหม่คงต้องการให้การเลือกตั้งสะท้อนเสียงที่แท้จริง ไม่ให้เกิดคะแนนตกน้ำตามที่มีการกล่าวอ้าง ส่วนคำครหาว่าระบบใหม่ออกแบบมาเพื่อจงใจฆ่าพรรคเบอร์ 1 ก็ไม่มีใครทราบได้ว่า จริงหรือไม่?
แต่ที่แน่ๆ ผู้มีอำนาจ ไม่ได้ “จงใจ” เอื้อให้พรรคขนาดกลางได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น เพราะที่นั่งที่เพิ่มขึ้นมา เป็นสิ่งที่ ควรได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว?
ถามว่า แล้วคะแนนที่ “ควรได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” มันไปกองอยู่ที่ไหน ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา
คำตอบก็คือ ไปกองอยู่ที่ “พรรคที่ได้ ส.ส.เขต จำนวนมาก”
การคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง 2562 โดย BBC Thai
เพราะตามหลักที่ควรจะเป็นคือ เปอร์เซ็นต์ที่นั่งในสภา ต้องเท่ากับ คะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกมา เช่น คะแนนทั้งประเทศเลือกพรรค ก. 15 ล้านเสียง จาก 30 ล้าน ต้องมี ส.ส. 250 คน จากสภา 500
ทว่าในทางปฏิบัติ มันจะมี “ค่าความไม่สมดุลระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่งในสภา” ในตำราเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง เขาเรียกว่า “Degree of Disproportionality”
ต้องมีค่า Degree of Disproportionality น้อยๆ ถึงจะเป็นระบบการเลือกตั้งที่ดี
เชื่อไหมครับว่า จากการศึกษาการเลือกตั้ง ชี้ชัดว่า “ระบบเขต” มีค่าความไม่สมดุล “มากกว่า” การเลือกตั้ง “แบบสัดส่วน”
กล่าวคือ ระบบเลือกตั้งแบบเขตเอื้อให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ชนะการแข่งขันและมีตัวแทนในสภามากกว่าในระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน
ในทางกลับกัน พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสได้รับการจัดสรรที่นั่งน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผู้ร่างกติกาชอบยกมาอธิบายคือ การเลือกตั้งหัวหน้าห้อง ที่มีนักเรียน 100 คน นาย ก.ได้ 40 เสียง ส่วนนาย ข.นาย ค. นาย ง. ได้คะแนนเสียงลดหลั่นกันไป นั่นคือ นาย ก.ชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อรวมๆแล้ว มีผู้ไม่เลือกนาย ก.กว่า 60 คน ดังนั้น 60 คนที่ว่านั้น เขาเรียกว่า “คะแนนตกน้ำ” ซึ่งคะแนนตกน้ำเมื่อรวมกันหลายๆ เขตเลือกตั้งเข้า คิดเป็นจำนวน ส.ส.ในสภาไม่น้อยเลยทีเดียว
ฉะนั้น หลายๆ ประเทศ เลยพยายามคิดสูตรเลือกตั้ง ให้มีทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อหวังเอา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาเติมที่นั่งชดเชย
อย่างไรก็ตาม หากดูจากสถิติของไทย การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พบว่า “ระบบเขต” พรรคเพื่อไทยได้คะแนน 44.94% แต่ได้ที่นั่งไป 54.40% และต่อให้รวมกับระบบบัญชีรายชื่อแล้ว เพื่อไทยได้เสียง 48.41% แต่ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 53.00%
ว่ากันว่า การเลือกตั้งปี 2544 และ 2550 “ไทยรักไทย” กับ “พลังประชาชน” มีจำนวน ส.ส.ในสภา เกินมาจากคะแนนเสียง ยิ่งกว่าปี 2554 เสียด้วยซ้ำ
บางคนก็บอกว่า พรรคทักษิณ ชนะถล่มทลาย ได้ที่นั่งในสภาเยอะแยะ เพราะมันเฟ้อไปมากกว่าคะแนนเสียงที่พรรคได้มา
แต่ไม่ต้องตกใจไปครับ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะจัดสรรที่นั่งได้สมบูรณ์เป๊ะๆ โดยประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกลางๆ ส่วนประเทศที่มีค่าความไม่สมดุลระหว่างคะแนนเสียงและที่นั่งในสภาต่ำ ได้แก่ เดนมาร์ก บราซิล อินโดนีเซีย ฟินแลนด์ เพราะล้วนใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน
การคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง 2562 โดย รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
ทีนี้ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของ คสช. ที่อ้างว่าเอามาจากเยอรมนี มันจะช่วยให้คะแนนเสียงที่พรรคได้ กับจำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นๆได้สอดคล้องกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบเดิมหรือไม่นั้น รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง สามารถแก้ได้ด้วยระบบเลือกตั้งผสม หรือ MMP แบบเยอรมนีจริงๆ ไม่ใช่แบบไทยๆ เพราะระบบนี้เหมือนตัดมือทิ้งทั้งมือ เพื่อรักษานิ้วก้อย ผลที่จะเกิดจากระบบนี้คือ 1. ผลเลือกตั้งบิดเบือนและเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้ง 2. เอื้อให้เกิดโครงสร้างการแข่งขันที่เน้นตัวบุคคล ทำลายระบบพรรคการเมือง (ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองบางพรรค) 3.ไม่เอื้อต่อการสร้างระบบความรับผิดชอบ (accountability) ระหว่างผู้เลือกตั้งและตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้ง
…เหมือนยิ่งแก้ ก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม
ที่กล่าวมาทั้งหมด คือการถกเถียงกันในเชิงหลักการ เชิงปรัชญาที่แฝงในแต่ละระบบเลือกตั้ง หรือท้ายที่สุดแล้ว ไทยเราควรกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบธรรมดา คือ ถ้าได้เสียงข้างมาก ก็ชนะไปเลย ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน
“simple is the best” ไปเลยดีไหม?
แต่เชื่อเถอะครับ ไม่ว่าระบบเลือกตั้งแบบไหน พรรคการเมืองไทยก็พร้อมรับมือ เพราะอย่างไรเสีย “ทุกพรรคก็อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน” คิดแบบนี้ สบายใจดี
จะได้ไม่เสียเวลาน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าสูตร อ.มีชัย เอื้อคนนั้น ไม่เอื้อคนนี้ หรือจินตนาการเลยเถิดไปว่า จงใจเอื้อพรรคไซด์กลาง เพราะพรรคกลางถูกผู้มีอำนาจชักจูงไปได้ง่าย!
เชือก โชติช่วย รายงาน