ล่าสุด กยศ.เอาจริง ไล่บังคับคดีลูกหนี้ ตอบสนองความเชื่อ “คนมีหนี้ ต้องใช้” ที่อาจหลงลืมประเด็น “สำคัญ” บางอย่างไป เพราะอย่าลืมว่า กยศ. “สมควร” เป็นหนึ่งในบริการสาธารณะ ซึ่งต้องถูกปรับให้ยืดหยุ่นตามสภาพความเหมาะสมของสังคมมากกว่าการเอากฎหมายไปไล่เบี้ย ให้ได้เงินกลับมาเร็วที่สุด มากที่สุด
ดร. เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
“เมื่อการศึกษาเป็นภารกิจด้านบริการสาธารณะของรัฐ เช่นเดียวกับการสาธารณสุขหรือสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน เป้าหมายของการจัดตั้งกองทุน กยศ. ย่อมไม่ใช่การหากำไรหรือประกอบการพาณิชย์ รัฐจึงอาจขาดทุนจากการให้กู้ยืม ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมไป รัฐอาจไม่ได้คืนกลับมาทั้งหมด”
ขณะที่ฝ่ายการเมือง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า อยากเห็นนักศึกษาจบใหม่ ได้ใช้พลังในการคิดพัฒนาประเทศมากกว่าต้องทนทุกข์อยู่กับชีวิตที่ติดหนี้ ไปถึงขั้นประกาศแนวทางแก้ปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1. ให้ลูกหนี้ที่มีงาน มีศักยภาพ จ่ายหนี้ตามความสามารถ 2. พักหนี้สูงสูด 5 ปี แก่ลูกหนี้ที่ขาดความสามารถในการชำระตามเวลาที่กำหนด และ 3. ปลดหนี้แก่ผู้พิการทุพพลภาพ 4. ปลดภาระผู้ค้ำ
ต้องยอมรับว่าชุดความคิดเรื่องมีหนี้ต้องจ่าย อาจใช้ไม่ได้ 100% กับเรื่องของ กยศ.
เพราะเป็นหนี้ที่รัฐต้องลงทุนเพื่อสร้างทรัพยากรประเทศ ที่ผลตอบแทนไม่ใช่เม็ดเงิน แต่ทว่าเป็น “คุณภาพ” ของคนที่กลับสู่สังคม
ล่าสุด ทีมข่าว Ringsideการเมือง มีโอกาสเข้าไปศึกษาปัญหาของผู้กู้ กยศ. ในกลุ่ม FB และในกลุ่มไลน์เฉพาะกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผู้กู้ กยศ. จำนวนมาก กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อจ่ายหนี้ กยศ.
ผู้กู้รายหนึ่งระบุว่า
“เราบกพร่องเรื่องวินัยการชำระหนี้ แต่ทุกคนมีปัญหาจริงๆ เพราะที่เรยนจบมาใช่ว่าจะมีงานทำกันทุกคน งานที่ทำก็ไม่พอใช้หนี้ เพราะอย่าลืมว่ามาตรการคัดกรองให้คนมาสมัครเป็นหนี้กับ กยศ คัดเฉพาะคุณสมบัติจนจริงๆ นั่นก็ต้องยอมรับสิ่งจะตามมาว่า หนี้อาจจะได้คืนไม่ครบ เพราะเรียนจบมาแล้ว ถึงมีงานทำ กับครอบครัวคนจน ย่อมมีหนี้ที่อาจจะมีมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ที่เมื่อเรียนจบแล้วก็ต้องชำระช่วยพ่อแม่อีก แต่ถ้ารัฐให้ทั้งเงินและงานทำ ติดตามหางานช่วยลูกหนี้บ้าง ปัญหาจะไม่ตามมาหนักขนาดนี้”
ขณะที่ผู้กู้ส่วนใหญ่ บอกเล่าความเจ็บช้ำ อันเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าเบี้ยปรับ ทะลุเงินต้น แต่แน่นอนว่า พวกเขาต่างหาทางชดใช้กรรมแห่งความยากจน ไม่มีบิดพลิ้ว
“อยากลดเบี้ยปรับมากกว่า ตอนที่มีปัญหา จ่ายๆหยุดๆ เบี้ยปรับเยอะมาก ถ้าประนอมหนี้แล้วจ่ายรายเดือนแล้วจ่ายๆหยุดๆอีกชาตินี้คงปลดหนี้ไม่หมด เลยเก็บเงินได้ก้อนนึงตั้งใจจะปิด ถ้าไม่พอก็ไปขอกู้กองทุนหมู่บ้านมาเพิ่ม เค้ายืดหยุ่นกว่า กรณีที่เรามีปัญหาในการจ่ายเป็นบางงวด อยากหมดภาระจากกยศ เพราะเบี้ยปรับโหดเกิน ของเราไกล่เกลี่ยครั้งแรก ยอดหนี้ 14xxxx จ่ายจนเหลือ 61xxx ได้รับหมายศาล ดอกเบี้ยแค่ 4xxx ส่วนค่าปรับปาไปเกือบเท่าต้น 52xxx เท่ากับที่จ่ายไปเกือบ 80000 ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ต้นกลับมาเกือบเท่าเดิมอีก”
และ
“เบี้ยปรับ..วิ่งทุกวันครับ..กยศ.ไม่เหนใจพวกเราหรอกครับ..ตอนนี้เขาเล่นตามกฎหมายเป๊ะๆๆ
ตอนกู้มา เงินต้น 62,411 แต่เจอเบี้ยปรับ58,190 ดอกเบี้ย 9,398 รวม 140,000 อย่างไรเสียก็ตั้งหน้าตั้งตาจ่ายครับ เรียนสบาย 4 ปี อีก เกือบ 20 ปีใช้หนี้ นี่แหละหนอ ชีวิตคนจน”
ทั้งนี้ เมื่อเข้าไปตรวจสอบที่เว็บไซต์ของทาง กยศ. พบว่าเงื่อนไขการชำระหนี้ประกอบไปด้วย หลังเรียนจบผู้กู้มีเวลาปลอดหนี้ 2 ปี
หลังจากนั้น ต้องชำระในวันที่ 5 กรกฎาคมของปีถัดไป โดยต้องคืนเป็นอัตราก้าวหน้าพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ของเงินตกค้าง หากกู้เงินมา 1 แสนบาท ต้องจ่ายคืนในอัตราก้าวหน้า(ดูภาพประกอบด้านล่าง)
กรณีที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จะถูกปรับสูงสุดถึง 18% ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ จุดนี้เป็นปัญหาของผู้กู้อย่างยิ่ง เพราะบ่อยครั้ง เบี้ยปรับมีมูลค่าเกือบเท่าเงินที่กู้ไป(ดูภาพประกอบด้านล่าง)
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทางคณะไม่สนับสนุนให้นักศึกษากู้เงินจาก กยศ.เพื่อมาศึกษาต่อ เนื่องจากเงื่อนไขเรื่องการคืนเงิน ซึ่งยากยอมรับได้ ทางคณะจึงสนับสนุนให้นักศึกษาไปขอทุนจากช่องทางอื่นมากกว่า
Ringsideการเมือง