ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม. บูรพา กล่าวถึงสถานการณ์ด้านประชาธิปไตย ว่า นอกจากเราจะไม่มีประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะถูกหลงลืมจากทุกฝ่าย ที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายล้วนหาทางใช้เพียงการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจ โดยลืมนึกถึงปัญหาของพี่น้องประชาชน ซึ่งควรจะเป็นปัญหาเร่งด่วน ประชาชนควรจะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้ ประชาธิปไตยทางการเมืองและทางเศรษฐกิจสมควรจะมาพร้อมกัน ความสำคัญสะท้อนผ่านหลักคิดของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ที่ในทางหนึ่งได้พยายามลงหลักระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย อีกทางก็พยายามให้เศรษฐกิจไทย เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน โดยเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย จะดำรงอยู่อย่างมั่นคง หากประชาชนอยู่ดีกินดี
แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยโหยหาเพียงการเลือกตั้ง และเชื่อว่านี่คือทั้งหมดชองประชาธิปไตย ความคิดดังกล่าว รังแต่จะทำให้ทุกฝ่ายคิดแต่การชนะเลือกตั้ง โดยมิได้สนใจเลยว่าหลังจากนั้น ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ ท้ายที่สุดประชาธิปไตย ย่อมไม่สามารถลงหลักได้อย่างมั่นคง
“เราไปขายฝันเรื่องประชาธิปไตยทางการเมือง แต่เราลืมคิดไปว่ายังมีประชาชนอีกกว่าค่อนประเทศที่เขายังยากจน ที่สุดแล้ว มันจะเกิดความคิดว่า เราจะสู้เพื่อประชาธิปไตยทำไม ทั้งที่ชีวิต ไม่เคยดีขึ้น”
ด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองเรื่องปากท้องเป็นสำคัญมากกว่าเรื่องที่มาของอำนาจ มันต่างจากประเทศในยุโรป และสหรัฐฯ ที่ดคยมีทาส และการกระทำที่กดขี่กว่า ประชาธิปไตยเชิงอำนาจ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวให้ความสำคัญ แต่ในเอเชียอาคเนย์ ประชาชนต้องการมีชีวิตที่สงบสุข หากพรรคไหน แก้โจทย์ นำชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมาให้ประชาชนได้ รับรองไม่มีทางแพ้ ส่วนเรื่องพัฒนาประชาธิปไตย มันจะเกิดขึ้นเอง หลังจากที่ประชาชนได้รับการสนองตอบความต้องการในชีวิตประจำวัน ถึงจุดหนึ่ง เขาจะคิดถึงสิทธิ์และเสียงทางการเมืองอย่างแน่นอน
“สิ่งที่อยากเห็นคือพรรคการเมือง แข่งกันชูนโยบาย ให้ประชาชนมีระดับคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น มากกว่าการพูดเรื่องการเมือง แต่ละเลยหลงลืมประชาชน”