ท่ามกลางการแข่งขันช่วงชิงกระแสของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในบรรยากาศก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง สิ่งที่พบเห็นดาษดื่นคือการประกาศตัวเลขความมั่นอกมั่นใจของแต่ละฝ่าย ทั้งเก่าและใหม่
บ้างก็ว่าพรรคตัวเองเป็นตัวแทนของคนรักชาติ เกลียดคอรัปชัน
บ้างก็ว่าพรรคตัวเองเป็นตัวแทนของคนรักประชาธิปไตย
บ้างก็ว่าพรรคตัวเองเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่
บ้างก็ว่าพรรคตัวเองเป็นตัวแทนของคนเบื่อการเมืองแบบเก่า
ที่สำคัญคือบางพรรค จับประแส เช็คยอดไลค์ ยอดแชร์ ทางออนไลน์
บางพรรคก็วัดความถี่การตกเป็นข่าว หมายรวมเอาว่าเป็น “เรทติ้ง”
ด้วยเหตุนี้ ทีมงานริงไซด์การเมือง จึงได้พูดคุยกับชาวบ้านจังหวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสาน ที่เชื่อว่าการแข่งขันคงดุเดือด
คำตอบที่ได้คือ เขาไม่รู้จักพรรคใหม่ ๆ เลย
แม้จะได้ยินชื่อตามข่าวอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้สนใจ
และถ้าจะเลือก คงเลือกพรรคการเมืองเก่า หรือ เลือกผู้แทนที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้าน
เลือกพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนอำนาจของพี่น้องประชาชนได้
นี่คือ “คำตอบ” ที่เป็น “โจทย์” ไปในตัว สำหรับพรรคการเมืองใหม่ ๆ
ยิ่งระบบเลือกตั้งแบบใบเดียว ชาวบ้านอาจ “เลือกคนเป็นหลัก เลือกพรรคเป็นรอง”
พรรคที่เน้นขายภาพลักษณ์หัวหน้าพรรค แต่ยังไม่เห็นผู้สมัคร คงต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่
อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัด เพราะพฤติกรรมการเลือกตั้งก็มีส่วนสำคัญต่อการแพ้-ชนะ
ยิ่งในสภาวะที่ความขัดแย้งแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ชาวบ้านอาจเลือก “เสาไฟ” ไม่ว่าพรรคจะส่งใคร ก็พร้อมเทคะแนนให้
จึงต้องรอคำตอบหลังปิดหีบ ซึ่งคำตอบที่ได้ จะทำให้บรรดาเซียนการเมือง รวมทั้งฝ่ายวิชาการ ได้บทเรียนไปอีกระดับ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร…กระแสพรรคใหม่ตอนนี้ ยังไปไม่ถึงต่างจังหวัด!
ทีมข่าวริงไซด์การเมือง รายงาน