รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ระบุว่า วันนี้ต่อให้มีเลือกตั้ง เราก็ยังไม่ได้เท่าที่เราเคยได้ เพราะแต่ก่อนเราอาจได้ประชาธิปไตยมาครึ่งใบ ครั้งนี้อาจไม่ถึงครึ่ง การเมืองช่วงนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความต้องการของประชาชนว่าต้องการแบบไหน รวมทั้ง จะเป็นสนามทดสอบทฤษฎีว่าประเด็นใหญ่ของการเลือกตั้ง ระหว่างเรื่องการเมือง หรือ เรื่องเศรษฐกิจ อันไหนจะขายได้
วันนี้เท่าที่ดูสุ้มเสียงของพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้าม คสช. เขาพยายามชูประเด็นการเมืองมาต่อสู้ เพราะมันชัดเจน เช่น เรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตย ปะทะ เผด็จการ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวก็ยังไม่แน่ใจว่าพอเอาเข้าจริง คนอาจสนใจเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เพราะความเป็นอยู่ของชาวบ้านก่อนและหลังยุค คสช.มันแตกต่างกันจริง ๆ ยกตัวอย่างเรื่องราคายางพารา จากกิโลกรัมละ 100 มาเป็น 3 โล 100 ดังนั้น จึงต้องคอยดูว่าอะไรจะจุดติด
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคขนาดกลาง อย่างภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ที่มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหันไปสังกัด อย่างล่าสุดคือการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และตระกูลสะสมทรัพย์ นำทีมไปซบค่าย “ศิลปอาชา” เป็นเพราะพรรคขนาดกลางมีโอกาสเป็นรัฐบาลสูง และสามารถผลักดันนโยบายพรรคไปสู่การปฏิบัติได้ เนื่องจากไม่เป็นศัตรูกับฝ่ายไหน
รศ.สุขุม ยังกล่าวถึงกิจกรรม “เดินคารวะแผ่นดิน” ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่า ตอนนี้นายสุเทพอาจใจหาย เพราะกระแสตอบรับไม่เป็นไปดังคาด จากที่มีคนออกมาต้อนรับน้อย โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับสมัยชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่สำคัญคือควรยอมรับได้แล้วว่า รปช. คือ พรรคของนายสุเทพ
“สาเหตุที่กระแสตอบรับพรรค รปช.ในกรุงเทพฯ น้อย เพราะในยุค กปปส.รุ่งเรือง คนเหล่านี้อาจมีศัตรูร่วม คือรัฐบาลเพื่อไทย เลยออกมาชุมนุมกันมาก แต่สำหรับสนามเลือกตั้งมันคนละเรื่องกัน อีกทั้งพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่น่าศึกษา เพระไม่มีอะไรตายตัว เขาจะอิงตามกระแสเป็นหลัก หรือบางยุคก็มักเลือกพรรคที่จะไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรวจสอบ” รศ.สุขุม กล่าว