ภาพสะท้อนปัญหาสาธารณสุขไทย ปรากฏผ่านจำนวนผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาลรัฐแทบทุกแห่งในประเทศไทย แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ภาพของความแออัดยังชัดเจนให้เห็นตามหน้าข่าว
ยืนยันด้วยข้อมูลเชิงสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ในปี 2556 มีผู้มีสิทธิ์รักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ใช้บริการผู้ป่วยนอก 151.86 ครั้งต่อคนต่อปี และผู้ป่วยใน 0.119 ครั้งต่อคนต่อปี เทียบกับปี 2545 ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 27.3% และผู้ป่วยใน 26.6%
ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้ป่วยแล้ว หาใช่ทุกคนต้องการมาโรงพยาบาลที่หลายครั้งต้องใช้เวลาเดินทางเป็นหลักชั่วโมง
ขณะที่การรอ 2-3 ชั่วโมง กว่าจะได้พบแพทย์ เป็นเรื่องสามัญ สำหรับผู้ป่วย ที่แม้จะเบื่อหน่ายแต่ต้องทนรับสภาพ ทั้งเรื่องความแออัด และเวลาที่สูญเสียไปวัน
ทว่า การไม่มีบริการรองรับในพื้นที่ การเดินทางมาโรงพยาบาล การรอคอยการรักษา จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งที่หลายครั้งผู้ป่วยสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ แต่เพราะความกังวลใจ จึงเดินทางไกลมาพบแพทย์
เหล่านี้คือปัญหาเฉพาะหน้า
เราจะแก้ไขอย่างไร ?
ที่งานนำเสนอแนวคิดสู่การพัฒนาเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย 12 ตุลาคม 2561
ศ.(เกียรติคุณ)ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือหมอแหยง หนึ่งในทีมยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย อธิบายให้ฟังว่า ในพื้นที่ห่างไกลหากไม่มีโรงพยาบาลชุมชน ประชาชนจะต้องเดินทางเข้าในตัวจังหวัด ไกลมาก และหากมี รพ.ชุมชน ที่มีเครื่องมือพร้อม ก็มักจะไม่มีแพทย์ในจำนวนที่เพียงพอ เพราะต้องยอมรับว่าเราผลิตแพทย์ได้ไม่ทันกับความต้องการ และแพทย์เป็นอาชีพที่เกี่ยวพันธ์กับชีวิตคน เรามิอาจไปเร่งร้อนให้เพิ่มอัตราการผลิตได้
หากมีทรัพยากรที่จำกัดจะต้องกระจายอย่างเหมาะสม แต่ต้องสมศักดิ์ศรีกับชาวบ้าน เช่น มีการส่งตัวต่อกันตามระดับ จะต้องมี “คนกลาง” เป็นผู้คอยกรองชั้นที่ 1 ก่อน ว่า ผู้ป่วยคนนี้น่าจะเป็นอะไร มีแนวทางการรักษาเบื้องต้นที่บ้านอย่างไร สามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้หรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเวลา ในการเดินทางไปพบแพทย์ หากอาการหนัก น่าจะส่งไปหาแพทย์ด้านไหน โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ที่สามารถส่งทั้งภาพ และเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้คนไข้ ไม่ต้องเดินทางไกล ขณะที่หมอ สามารถเริ่มต้นการรักษาขณะอยู่โรงพยาบาลได้เลย
เท่ากับว่าทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึง “แพทย์” อย่างเท่าเทียม
ทว่าสิ่งที่ต้องคิดคือ “ใคร” จะเป็นคนกลาง ซึ่งมีความรู้ด้านสาธารณสุขเบื้องต้น สามารถเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายคนไข้ และฝ่ายหมอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“หมอแหยง” เล่าต่อว่า ปัจจุบันนี้ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ทำงานกับชาวบ้านในทุกพื้นที่ ภายใต้กรอบการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก อาทิ การแจ้งข่าวสาร การอนามัยแม่และเด็ก การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
อสม. มีความรู้ในเรื่องของสาธารสุขเบื้องต้นอย่างแน่นอน
สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือการให้ อสม. อยู่ในพื้นที่กับชาวบ้าน และทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ระหว่างชาวบ้าน กับหมอที่อยู่ในพื้นที่ไกลออกไป ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร
เป็นการยกระดับจาก อสม. สู่ “หมอชุมชน”
“แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ด้วยการสื่อสารที่ทันสมัย ชาวบ้านกับ อสม. จะเชื่อมถึงกัน สามารถขอความช่วยเหลือกันได้ทันที อาทิ ให้ช่วยกันพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง ดูแลผู้สูงอายุ และด้วยการทำหน้าที่ของ อสม. ในการเชื่อต่อคนไข้ กับหมอ
ชาวบ้านจะเจอหมอได้ง่ายขึ้น การพูดคุยกันระหว่างคนไข้กับหมอ ผ่านแอพพลิคชั่นต่างๆ และการดูแลของ อสม. จะช่วยให้ชาวบ้านคลายกังวล หากเป็นโรคเล็กน้อย ย่อมไม่ต้องเสียทรัพย์เดินทางมาโรงพยาบาล หรือหากต้องรักษาเร่งด่วน ก็สามารถส่งตัวไปให้หมอผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นทันที เพราะถือว่าวินิจฉัยเบื้องต้นมาแล้ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต”
หมอแหยง เชื่อว่า อสม. มีศักยภาพในการรองรับบทบาทที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะ อสม. ถือเป็นกลุ่มบุคคลผู้เสียสละ แม้จะได้ค่าแรงรายเดือน แต่เพียง 600 บาท ก็มิอาจใช้เพื่อดำรงชีพอย่างจริงจัง เปรียบเป็นเพียงสินน้ำใจ ตอบแทนความเสียสละเพื่อชาวบ้าน
ด้วยสำนึกของ อสม. การเพิ่มงาน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชาวบ้าน ย่อมเป็นสิ่งที่ อสม. ปรารถนา ดังคำปฏิญาณตนของ อสม. ที่ว่า
“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า เหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ขอถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า
จะจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
และจะทำหน้าที่ เป็นตัวแทนของหมู่บ้าน
ในการแก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ
ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน
และดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี
ด้วยความรัก เอื้ออาทร เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการดูแลสุขภาพตนเอง
ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างต่อเนื่อง สืบไป
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”
ชัดเจนว่าแนวคิดของหมอแหยงนั้น เป็นการปรับใช้บุคลากร และทรัพยากรเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านการสาธารสุขที่ดีกว่า ให้ประชาชนในทุกพื้นที่เข้าถึงแพทย์อย่างเท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยขึ้น
โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นไปตามแนวทางของพรรคภูมิใจไทย ในยุคของ “อนุทิน ชาญวีรกูล”
“ทำได้จริง ทำได้เลย”
Ringsideการเมือง