บทวิเคราะห์การเมือง “ไทยโพสต์” กล่าวถึงสถานการณ์ของพรรคภูมิใจไทยผ่านบทความ ชู 3 ล้านเสียงขั้วที่ 3 ตัวแปร–ผู้ประคอง ว่า อยู่ในตำแหน่งที่ดี มีโอกาสได้ร่วมรัฐบาลสูง หรือมีโอกาสเป็นถึง “นายกฯ” คนกลาง แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวจะสำเร็จได้ พรรคต้องมีผู้แทนราษฎร 50 เสียงขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะพรรคภูมิใจไทยมีนักการเมืองระดับ “ดี เด่น ดัง” อยู่ในพรรคจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยห้ามประมาท หวังพึ่งกระแสคนเพียงอย่างเดียวจนลืมกระแสพรรค เพราะหากสุดท้ายได้เสียง ส.ส.ต่ำกว่า 30 ที่นั่ง อาจจะหมายถึงการปิดโอกาสทำงานในกระทรวงที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน ปิดโอกาสการเป็นนายกฯคนกลาง และอาจจะหมายถึงการกลับไปเป็นฝ่ายค้านอีกสมัย
“สำหรับพรรคภูมิใจไทย ตัวเลขบวกๆ 50 เสียง จึงมีความสำคัญมาก วิเคราะห์กันว่ามีโอกาสสูงเป็นขั้วที่ 3 มีสภาพเป็น“ตัวแปร” สามารถกำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เป็นรัฐบาล ที่ไปรวบรวมเสียงมาได้ประมาณ 210-230 เสียง โดยมีอำนาจต่อรองมหาศาล เลือกได้ว่าเบอร์หนึ่งพรรคภูมิใจไทย จะ “นั่งนายกฯ คนกลางเสียเอง” หรือทำหน้าที่ “ผู้ประคองนายกฯ” หลังเลือกตั้งไปตลอดทั้ง 4 ปี พร้อมด้วยบริหารกระทรวงที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน ที่ฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลต้องยอมเพราะอยากได้อำนาจรัฐ ลดโอกาสถูกตามเช็กบิลย้อนหลัง และไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน “อดยากปากแห้ง” ดังวลีอมตะของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ
แต่ในทางกลับกัน พรรคภูมิใจไทยก็อย่าได้ประมาท มั่นใจคะแนนจากพื้นที่เพียงอย่างเดียว เมินกระแสช่วงเลือกตั้ง และรวมทั้งคนเข้ามาใหม่บางคนยังมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่… ซึ่งหากสถานการณ์ข้างหน้าผันแปรไม่เป็นใจ ก็อาจทำให้ได้ ส.ส.มาน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ หรือต่ำกว่า 30 เสียง
สถานะ “ตัวแปร” จะเปลี่ยนเป็น “พรรคอะไหล่” ถูกจับไปอยู่ขั้วที่ 4 หรือเป็นพรรคอันดับ 5 หรืออันดับ 6 มีความสำคัญแค่เติมเสียงในสภาฯ ให้มั่นคง อำนาจต่อรองไม่มี และผลตอบแทนเพียงกระทรวงเกรดซี เช่น รมช.วัฒนธรรม
การเลือกตั้งจึงห้ามประมาททุกรายละเอียด และเก็บแต้มทุกเม็ด เพราะสถานะขั้วที่ 3 แตกต่างจากขั้วที่ 4 ดังฟ้ากับเหว”