หน้าแรก news ช้ำใจ ! หอการค้า เผย ราคายาง 62 มีแต่ทรงกับทรุด

ช้ำใจ ! หอการค้า เผย ราคายาง 62 มีแต่ทรงกับทรุด

0
ช้ำใจ ! หอการค้า เผย ราคายาง 62 มีแต่ทรงกับทรุด
Sharing

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการแถลงข่าว “วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย: อุปสรรคและทางรอด” ว่า คาดการณ์ราคายางพาราในปี 2562 จะยังทรงตัวต่อเนื่อง มีแนวโน้มราคาใกล้เคียงปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคายางพาราตกลงค่อนข้างเยอะ โดยปัจจัยหลักคือ 1.ผลผลิตยางพารามีมากเกินความต้องการของตลาด 2.สงครามทางการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน 3.ราคาน้ำมันปรับโตสูงขึ้น 4.การผลิตยางสังเคราะห์ ที่ผู้ประกอบการพยายามผลิตให้ออกมาคล้ายกับยางพาราธรรมชาติ ที่มีลักษณะอ่อนตัวและทนน้ำมัน ซึ่งคาดว่าหากสามารถผลิตออกมาได้คล้ายคลึงมากที่สุด จะกระทบต่อราคายางธรรมชาติ ฉุดให้ราคาปรับลงต่ำกว่าที่ผ่านมา โดยทางรอดที่เกษตรกรสามารถทำได้คือ ควรลดพื้นที่ในการปลูกยางลง 30% หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจหรือไม้ยืนต้นแทน โดยเฉพาะไม้ยืนต้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้ปลูกแล้วสามารถนำมาใช้เป็นสินทรัพย์ของตนเองได้

ทั้งนี้ ไทย อินโดนีเซีย จีน เป็นแหล่งผลิตยางที่สำคัญของโลก และไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่กลับมีการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมต่างๆ ค่อนข้างน้อย ทำให้มีส่วนในการกำหนดราคาน้อยกว่าจีน เนื่องจากจีนมีการใช้ยางพารามากกว่าไทย ส่งผลให้ราคายางพาราไทยมีความผันผวนสูง ซึ่งในระยะที่ผ่านมาผลผลิตยางพาราเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ทำให้ราคายางพาราตกต่ำ แต่ผลผลิตต่อไร่กลับต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ทำได้จริงเพียง 224 กิโลกรัมต่อไร่

นายอัทธ์ กล่าวว่า ทำให้ต้องเกิดวาระแห่งชาติยางพาราไทย โดยทางรอดที่จะนำเสนอคือ 1.ปรับโครงสร้างหน่วยงานยางพาราของประเทศ แบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงานให้ชัดเจนและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.เกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นเอกภาพ โดยตั้งเป็นกลุ่มตัวแทนของเกษตรกรยางพารา และให้ตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรอื่นๆเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อเสนอปัญหาที่พบเจอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 3.พัฒนา Big data ยางพาราไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลก แต่กลับไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับยางพาราที่อัพเดต รวมถึงการมีข้อมูลอยู่ แต่ไม่ตรงกันทุกภาคส่วน 4.จัดตั้งศูนย์เตือนภัยยางแห่งชาติ เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงการผลิตและความต้องการในอนาคต รวมถึงสามารถวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อยางพาราไทยและยางพาราในตลาดโลกได้ 5. ส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำยางและผลิตยางไปขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ โดยตั้งอยู่ 2 จุดคือ ท่าเรือสงขลาและท่าเรือแหลมฉบับ

6. ตั้งศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราของโลก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตล้อเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์อิฐผสมยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อการก่อสร้าง 7. ตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนามาตรฐานระดับต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ 8. ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเครดิตให้กับกลุ่มเกษตรกรผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อตลาดต่างประเทศ 9. ส่งเสริมให้มีการผลิตยางแผ่นรมควันคุณภาพสูง 10.ตั้งศูนย์กลางการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ 11.ตั้งศูนย์การค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยในแต่ละจังหวัด 12.ตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์และห้องทดลองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละภูมิภาค 13.ตั้งผู้แทนการค้ายางพาราของไทย และ14.ตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการเพิ่มรายได้เกษตรกรยางพารา

“ทางแก้คือ หากผลักดันให้เกษตรกรสามารถหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หมุนเวียนและหาตลาดมารองรับพืชเหล่านั้นได้ จะเป็นวิธีจูงใจและสร้างความพอใจให้เกษตรกรได้ เพราะในปัจจุบันแม้ว่าไทยมีอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าจากยางพาราค่อนข้างมาก อาทิ ยางรถยนต์ ถุงมือทางการแพทย์ หมอนยางพารา ยางรถยนต์ ยางล้อหล่อดอกยางใหม่ แต่ไทยยังผลิตถุงมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสู้มาเลเซียไม่ได้ ส่วนหมอนยางพาราไทยยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ต้องผลักดันเพื่อให้โตได้มากกว่านี้ในอนาคต” นายอัทธ์ กล่าว

ขอบคุณข่าว : มติชน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่