หน้าแรก Article เปิดแนวคิด “พักหนี้กยศ.” ต่อท่อหายใจคนรุ่นใหม่ได้ไปต่อ

เปิดแนวคิด “พักหนี้กยศ.” ต่อท่อหายใจคนรุ่นใหม่ได้ไปต่อ

0
เปิดแนวคิด “พักหนี้กยศ.” ต่อท่อหายใจคนรุ่นใหม่ได้ไปต่อ
Sharing

กำลังกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังบั่นทอนขวัญและกำลังใจของบรรดานักศึกษาและเยาวชนของชาติที่จบมาใหม่และกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว อนาคตแต่ต้องมาสะดุดหยุดอยู่ที่หนี้ก้อนโตที่เกิดขึ้นในช่วงกำลังศึกษาหาความรู้ เพราะต้องการเรียน แต่ด้วยเศรษฐกิจไม่ดีครอบครัวจำต้องหาทางออก ด้วยการเข้าไปกู้ในกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กองทุนกยศ. หวังต่อท่อหายใจ จากท่อหายใจกลายมาเป็นชนักติดหลักแกะไม่ออกของบรรดาคนรุ่นใหม่ของไทย

หากจะย้อนดูที่มาของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 และเริ่มให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 โดยมีหลักการว่า “เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย สำหรับศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับปริญญาตรีในประเทศ (ทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ) รวมทั้งการศึกษานอกระบบต่อเนื่อง จากระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรและประเภทที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยนักเรียน กยศ. หรือ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา คือหน่วยในใบกำกับของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา โดยการให้กู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และนักเรียน นักศึกษาจะต้องชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดเมื่อจบการศึกษาแล้ว

วัตถุประสงค์หลักของกองทุนกยศ.คือ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แก่ผู้ที่มาจากครอบครัวที่ มีรายได้น้อยซึ่งด้อยโอกาสทางการศึกษา อันจะมีส่วนสำคัญในการยกฐานะความเป็นอยู่ของ ประชาชน และเป็นการสนองตอบต่อนโยบายการกระจายรายได้

สองเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการศึกษาทางด้านอุปสงค์ โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของประชาชน

จากนโยบายที่เลิศหรูกลายมาเป็นปัญหาสังคมที่หาทางออกไม่ได้ของรัฐ และสร้างปัญหาให้กับประเทศในที่สุด เพราะจะว่าเยาวชนเลือกงานก็ไมได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดีไม่มีคนจ้างงานมากกว่า ปัญหาที่สะท้อนออกมาจากโลกโซเชียล หน้าหนังสือพิมพ์ สื่อทุกช่องทาง จึงเป็นที่รับทราบกันว่ากองทุนกยศ.กลายมาเป็นเถาวัลย์ที่พันขาเด็กไม่ให้เดินไปข้างหน้า

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า  ในเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาเริ่มดำเนินแนวทางการหักเงินเดือนข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นลูกหนี้ กยศ. นำร่องกับข้าราชการกรมบัญชีกลางก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการหักเงินเดือนกับข้าราชการกระทรวงการคลัง และส่วนราชการทั้งหมดต่อไป โดยปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ทั้งสิ้น 1.7 แสนราย มูลหนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท

โดยในจำนวนนี้ มีสถานะชำระปกติ 9 หมื่นกว่าราย และผิดนัดชำระอีก 7 หมื่นกว่าราย โดยลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระติดกัน 5 งวด จะถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง ส่วนการหักเงินเดือนลูกหนี้กับบริษัทเอกชนนั้น จะเริ่มดำเนินการได้ในปลายปี 2561 โดยจะนำร่องกับบริษัทขนาดใหญ่ก่อน อาทิ ซีพี, กรุงไทย และรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น

“ปัจจุบัน กยศ. ปล่อยกู้ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาแล้ว 5.4 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ มีการชำระและปิดบัญชีไปแล้ว 8 แสนราย มีสถานะตาย หรือพิการ 5 หมื่นราย ทำให้ยังเหลือผู้กู้ในระบบทั้งสิ้น 4 ล้านคน ในส่วนนี้เป็นลูกหนี้สถานะปกติประมาณ 1 ล้านกว่าราย และมีสถานะผิดนัดชำระ 2 ล้านกว่าราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.8 หมื่นล้านบาท ในปีนี้มีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 4 แสนล้านบาท โดยในปีนี้ กยศ. เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระประมาณ 1.2 แสนราย มูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท จากยอดการฟ้องร้องทั้งหมดในรอบ 10 ปีที่ประมาณ 1.2 ล้านคดี มูลหนี้ 4.8 หมื่นล้านบาท

 

จากปัจจัยที่เกิดขึ้น การเบี้ยวหนี้ของกองทุนกยศ.มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นหลัก คือ จบมาแล้วไม่มีงานทำ หรือทำงานก็ได้เงินเดือนไม่เป็นไปตามกฏหมายกำหนด หรือจงใจเบี้ยวหนี้ ส่งผลให้ทางกองทุนมีปัญหาดังนั้นกองทุนจึงเอาระบบธนาคารเข้าไปจับ โดยหากเบี้ยวหนี้ก็ส่งเรื่องไปกรมบังคับคดีฟ้องยึดทรัพย์หรือไม่ก็ส่งเรื่องให้เครดิตบูโร เพื่อตัดทางในการต่อทางการเงิน สร้างตราบาปให้กับเยาวชนหรือบรรดานักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มกิจการเริ่มงานใหม่ไม่มีทางไปในที่สุด

ประหนึ่งคนป่วยที่กำลังใส่เครื่องชาวยหายใจกำลังหาทางรอด อยู่ดีๆกองทุนกยศ.ก็มาดึงสายออกซิเจนออก ผลที่ออกมาคนที่เป็นหนี้กยศ.ไปต่อไม่ได้กลายมาเป็นปัญหาสังคมไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจำต้องเร่งหาทางแก้ไข เพื่อต่อท่อหายใจให้กับคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้สามารถยืนได้ในสังคม

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยถึงกรณีการบริหารหนี้ กยศ. ที่เกิดปัญหาขณะนี้ว่า เป็นปัญหามานานแล้ว เรื่องดังกล่าวทางพรรคภูมิใจไทยเคยหารือกันบ้าง และได้เสนอแนวทางแก้หนี้ กยศ.มาตั้งแต่ปี 2557 จากข้อมูล กยศ. มีจำนวนลูกหนี้สะสมทั้งสิ้น 5.4 ล้านคน มูลหนี้รวมทั้งหมดกว่า 5.7 แสนล้านบาทเอาเฉพาะปีนี้ กยศ. มีลูกหนี้ที่ต้องชำระคืน ประมาณ 3.5 ล้านคน มูลค่าหนี้รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท และ 2.5 ล้านคนกำลังจะโดนฟ้อง  ทางกยศ. มีศักยภาพในการฟ้องร้องต่อปีที่ 100,000 คน ซึ่งกำลังกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะ กยศ.ต้องเสียค่าจ้างทนายความในการดำเนินคดี ที่ 10,000 บาทต่อคดี คืองบประมาณที่เสียไปกับการจ้างทนาย ชัดเจนว่าบริษัทกฎหมายได้กำไร แต่ยังไม่รู้ว่าจะตามหนี้กลับมาได้แค่ไหน

“ที่คนเหล่านี้ต้องมากู้ เพราะระบบการศึกษาไทย มันดูแลไม่ครอบคลุมทั่วถึง สังคมคาดหวังให้เด็กเรียนต่อถึงระดับปริญญาตรี แต่รัฐสนับสนุนให้เรียนฟรีเพียง 15 ปี หรือแค่จบมัธยม หลังจากนั้นเด็กต้องหาเงินเรียนเอง เมื่อไม่มีเงินก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาเช่นในปัจจุบัน

ดังนั้น รัฐควรที่จะทำนโยบายให้โอกาสทางการศึกษา ขยายการเรียนฟรี ไปต่อจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ซึ่งทางพรรคกำลังทำนโยบายในการสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะทำงานและจ่ายภาษีคืนแก่ประเทศชาติอยู่แล้ว”

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาหนี้ กยศ. ในปัจจุบัน ทางพรรคภูมิใจไทย มีแนวคิดในการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การพักชำระหนี้ไม่ได้ยกหนี้ให้ เพียงแต่พักการใช้หนี้ไว้ก่อน ระหว่างนั้นค่อยมาตกลงในรูปแบบของเงื่อนไขการจ่ายหนี้ ที่สำคัญการดำเนินนโยบายดังกล่าว สามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการฟ้องร้องลูกหนี้จำนวน 2.5 ล้านราย คิดเป็นงบกว่า 20,000 ล้านบาท และจะเป็นการต่อลมหายใจให้กับประชาชนด้วย

“คนมีหนี้พยายามใช้หนี้ทุกคน เพียงแต่สภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร ต้องแก้ตามระบบ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งรัฐต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งทางภาครัฐจำเป็นที่จะต้องหามาตรการในการต่อยอดการศึกษาโดยที่เด็กนักศึกษาไม่ต้องเป็นหนี้ทันทีที่จบมา

ปัญหาของกองทุน กยศ. ไม่ใช่เป็นเรื่องของวินัยการใช้เงิน แต่เป็นปัญหาที่รัฐไม่สนับสนุนการศึกษาไปจนสุดทาง รัฐจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดงานงบประมาณที่เหมาะสม หางบประมาณมาสนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนมากขึ้น เพราะหากเราสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ก็จะสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ ไว้พัฒนาประเทศ ทางพรรคภูมิใจไทยเชื่อเช่นนั้น”

 

วัฒนา อ่อนกำปัง ทีมข่าวริงไซด์การเมือง รายงาน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่