ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยว่า เท่าที่สังเกตดูพบว่าฝ่ายนี้วางขั้นตอนแรกไว้ คือ ขอแค่พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียง ส.ส.สนับสนุน 126 เสียง บวกกับ ส.ว.250 คนเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าคนอย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป มีความมั่นใจมาก แม้หลายคนจะบอกว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยแบบนี้จะไม่สามารถบริหารประเทศได้ แต่อย่าลืมว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และนายกฯ มีอำนาจยุบสภาฯ ซึ่งนี่จะเป็นเงื่อนไขต่อรองกับบรรดา ส.ส.ได้ เหตุผลก็คือ ส.ส.บางส่วนกลัวการเลือกตั้งใหม่ และที่สำคัญคือถ้ายุบสภาฯ โดยที่ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รัฐธรรมนูญบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 ในมือ
ส่วนยุทธศาสตร์ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อว่าหากเครือข่ายพรรคการเมืองของฝ่ายเพื่อไทย สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้ถึง 300 เสียง จะสามารถดึงพรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนาไปจับมือได้นั้น ดร.สติธร ระบุว่า ส่วนตัววิเคราะห์ว่า อาจไม่ต้องทำให้ได้ถึง 300 เสียง แต่ขอให้เกิน 250 เสียงก็มากพอที่จะให้พรรคขนาดกลางไปร่วมงานได้ ซึ่งตนประเมินว่าเครือข่ายเพื่อไทย อาจทำได้ถึง 280 เสียง
ดร.สติธร ยังกล่าวถึงการวิเคราะห์ตัวเลขของพรรคภูมิใจไทย ที่คาดหวังคะแนนเสียงทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านกว่าเสียง หรือประมาณ 50 ที่นั่ง โดยย้ำว่าไม่ใช่ตัวเลขที่เกินจริง เพราะมีฐานอ้างอิงมาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 บวกกับโอกาสทองจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่พรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น ตัวเลขเหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ในทางการเมือง ตัวเลข 50 ถือว่ามีความพอดีสำหรับพรรคที่วางตัวเป็นกลาง และหวังจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหากมี ส.ส.มากเกินไปกว่านี้อาจเป็นกระทบกับความมั่นคงของพรรคที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
“ตัวเลข 50 เป็นไซส์ที่กำลังน่ารัก พรรคลุงกำนันเองก็เคยพูดถึงจำนวน ส.ส.อยู่ที่ประมาณนี้เหมือนกัน เพราะถ้าถึง 60-70 จะเริ่มน่ากลัว ทั้งในเชิงอำนาจต่อรองและถ้าเกิดยกโขยงกันออกมา รัฐบาลอาจล้มได้” ดร.สติธรกล่าว