“ผมเบื่อกับการนั่งอยู่ที่เดิม ทำแต่เรื่องเดิม ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่ผมต้องการออกมาอยู่ในจุดที่สามารถทำอะไรได้มากขึ้น
เมื่อก่อน ผมออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ ส่วนผู้ได้ใบอนุญาต เขาจะแบ่งใช้อย่างไร ผมไม่เข้าไปก้าวก่าย
จากนี้ ผมอยากเห็นเทคโนโลยีทั้งหลาย มันทำประโยชน์ให้คนในชาติมากขึ้น มันต้องอาศัยการขับเคลื่อนทางการเมือง”
เป็นเป้าหมายในการร่วมพรรคภูมิใจไทย ซึ่ง ดร.มาร์ช เผยให้ทีมข่าว Ringsideการเมืองได้รับทราบ
ถอยฉากจากงานบริหารในระบบข้าราชการ มานั่งเป็นมันส์สมองให้พรรค “ภูมิใจไทย” แบบหักปากกาเซียน สำหรับ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ หรือ “ดร.มาร์ช” ที่กล้าๆ ลาออกจากการเป็นรองประธาน กสทช. แล้วมาทำหน้าที่เป็นทีมยุทธศาสตร์ให้พรรคภูมิใจไทย
เบื้องหลังมีความใกล้ชิดกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่สนใจในเรื่องของการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม ตามประสาวิศวกรเก่า ไม่เคยตกยุค ตกสมัย
ที่สุดแล้ว คุยกันถูกคอ เลยขอให้มาช่วยกัน
ที่ STUDIO Ringsideการเมือง ชายร่างเล็ก แต่ฉลาดหลักแหลม พูดฉะฉานตรงไป ตรงมา ตามสไตล์วิศวกรเก่า อธิบายให้ทีมงานฟังว่าเทคโนโลยีการสื่อสารของประเทศไทย ไม่เป็นรองใคร ประเทศไทยมีมือถือมากกว่าจำนวนคนในประเทศ คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หมด เราได้ทำลายขีดจำกัดด้านเวลา และสถานที่ไปแล้ว แต่กลับใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะติดกรอบกฎหมาย ติดกรอบแนวคิดแบบเดิม
“เทรนด์ตอนนี้ อยากรู้อะไร ก็เปิดมือถือดู แล้วทำไมเราต้องไปเรียนในคลาสให้มันสิ้นเปลือง แถมหลายคนถ้าไม่มีเวลาไปเรียน หรือเรียนไปแล้วเกิดอุบัติเหตุกับชีวิต ไปเรียนไม่ไหว เวลาเรียนไม่ครบ เรียนไม่จบ มันไม่ถูกต้อง เราควรมีทางเลือกให้กับประชาชน”
นี่คือหลักคิดพื้นฐานของแนวคิดเรื่อง Thailand Sharing University นโยบายธงนำของพรรคภูมิใจไทย ที่อยู่ระหว่างการปรับแต่งในรายละเอียด โดยความรับผิดชอบของ ดร.มาร์ช และทีมงานด้านการศึกษา ที่มี ดร.พะโยม ชิณวงศ์ อยู่เบื้องหลัง
“ผมไม่เคยบอกว่า Thailand Sharing University ต้องไปล้มระบบมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็ต้องมีอยู่ เพราะคนต้องปฏิสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้า บางหลักสูตร มีการทดลองรวมอยู่ แต่เรากำลังหาทางเลือกให้กับคนที่เขาไม่สามารถไปเรียนตามสถานศึกษา ตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ให้เขามีโอกาสเรียนจากที่อื่น และได้วุฒิ ไปเทียบ กลายเป็นใบปริญญา
ในต่างประเทศ มหาวิทยาลับระดับโลก ทั้ง Harvard ทั้ง Oxford ต่างก็ทำแบบนี้กันแล้ว”
เมื่อถามต่อว่า หากปล่อยให้เรียนตามอัธยาศัยจะมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกันเกินไปหรือไม่
ดร. มาร์ช อธิบายว่า แต่ละมหาวิทยาลัยต้องผลิตสื่อการเรียนการสอนออกมา และหาวิธีประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
ในที่นี้ หากเป็นการเรียนออนไลน์ จะทำลายกรอบเรื่องการสอนโดยอาจารย์ประจำ ที่ประจำตามห้อง มหาวิทยาลัย สามารถใช้คนนอก บุคคลซึ่งประสบความสำเร็จในด้านนั้น มาสอนได้ ผ่านระบบการบันทึกภาพ และเสียง ไปจนถึงการใช้สื่อรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การเปิดมาแล้วเจอครูสอน แต่อาจจะเป็นหนังสั้น กราฟฟิค สุดแล้วแต่ไอเดียของผู้ต้องการถ่ายทอดความรู้
แนวคิดดังกล่าว จะสร้างงานใหม่ให้กับนักพัฒนา Content เกิดเป็นอาชีพที่ต่อยอดออกไปหลากหลายขึ้น
“ในอินเตอร์เน็ต มีการสอนเต็มไปหมด สอนชกมวย สอนทำอาหาร เราไปดีลให้เขามาอยู่ในระบบมหาวิทยาลัย บรรจุเป็นวิชาไป แล้วให้เขาส่งเทปเข้ามา ให้เด็กไปเรียนตามบ้าน เป็นวิชาเสริมตามแต่ตกลงกันไป”
สำหรับ ดร.มาร์ช การศึกษา ควรเป็นบริการสาธารณะเต็มรูปแบบ และโอกาสควรจะเปิดกว้างกับประชาชนทุกคน
“ผมเชื่อว่าทุกคนต้องการเรียน แต่เราต่างมีข้อจำกัดที่ต่างกัน บ้านไกล ไม่มีเวลา ที่บ้านมีคนป่วย ไม่ชอบวิชานี้ แต่ทำอีกวิชาได้ดีมากๆ ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าข้อจำกัด
ในความเป็นจริง มันถูกทำลายไปเกือบหมดแล้วด้วยสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร เพราะถ้าบ้านไกล เราก็เรียนผ่านระบบออนไลน์
ไม่ชอบวิชานี้ ก็ไปลงเรียนอีกวิชาหนึ่งแทน มันหมดเวลาแล้วที่นักศึกษาจะเลือกได้แค่ไม่กี่วิชา เพราะคนเรามันมีความถนัดไม่เหมือนกัน ไปตีกรอบเขาไม่ได้
ไม่มีเวลาเรียนตอนกลางวัน ก็ไปเรียนตอนกลางคืน
เรียนจบคอร์ส ไปเทียบวุฒิ มีใบการันตีความสามารถ มีโอกาสหางานดีๆทำ
สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ เพียงแต่เราต้องแก้กฎกรอบเดิม เสริมความกล้า
ส่วนจะแก้ตรงไหน ผมมีอยู่ในใจแล้ว แต่ขออุบไว้ก่อน” (หัวเราะ)
ดร.มาร์ช เล่าเรื่องราวของ “Thailand Sharing University” อย่างออกรสออกชาด สีหน้าจริงจัง สะท้อนความมุ่งมาดปรารถนาในการเข้ามาทำงาน
เสียงหัวเราะ สะท้อนความมั่นใจว่า ความเห็นที่แสดงออกไป หาใช่เรื่องล่องลอย กลับกันสามารถทำให้เป็นจริงได้ ด้วยความรู้และประสบการณ์แห่งตน
ไอเดียมีแล้ว ความกระตือรือร้นมีแล้ว ดร.มาร์ช และพรรคภูมิใจไทย กำลังรอโอกาสจากพี่น้องประชาชน