ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน ระหว่างเรื่องกระแสความโด่งดัง และนโยบายด้านปากท้องว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน คำว่า “นักการเมือง” อาจเป็นคำที่ภาพลักษณ์ไม่ดี หรือเป็นลบสำหรับชนชั้นกลาง แต่กลับเป็นบวกสำหรับคนในท้องถิ่น เพราะนักการเมืองเขามีกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทำให้รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้ ชาวบ้านเขารู้สึกว่านักการเมืองดูแลประชาชนได้ดีกว่าราชการ ถามว่าประชาชนเขาโง่หรือเปล่าที่คิดอย่างนี้ ตอบว่า เขาเลือกอย่างชาญฉลาด เพื่อเอาตัวเองให้รอดจากระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ เลยทำให้นักการเมืองได้รับความนิยมชมชอบ ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองใดสามารถประสานนโยบายหรือแนวคิดที่ตรงกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตรงนี้จะทำให้คนเห็นความสำคัญมากขึ้น
ผศ.ดร.โอฬาร ยกตัวอย่างว่า ถ้าวิเคราะห์พื้นที่ภาคใต้ ตอนนี้มีปัญหาราคายางพารา และราคาปาล์มน้ำมัน พร้อมๆกับนักการเมืองจากบางพรรคที่ห่างเหินจากประชาชน หากมีนักการเมืองคนไหนอยู่กับชาวบ้าน ช่วยบ้าน และสามารถเสนอแนวคิดแก้ปัญหาปาล์ม ยางพารา ตรงนี้ประชาชนจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดทางการเมือง
“เราต้องยอมรับพฤติกรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวบ้านก่อน ที่ผ่านมาเรามักจะสรุปว่าเขาโง่ โดยเฉพาะนักวิชาการในกรุงเทพฯ ชอบหาว่าเขาเลือกตั้งไม่เป็น แต่จริงๆเขาฉลาด เช่น ที่บุรีรัมรัมย์เขาฉลาดที่เลือกคุณเนวิน คนสระแก้วฉลาดที่เลือกคุณเสนาะ คนสุพรรณฉลาดที่เลือกคุณบรรหาร รวมถึงคนชลบุรี ผมคิดว่าดีไม่ดีคนในเมืองอาจไม่ฉลาดเท่าชาวบ้านด้วยซ้ำ” ผศ.ดร.โอฬาร กล่าว