นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรค กล่าวในงาน น้องชวนพี่คุย อนาคตประเทศไทย ที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น ที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีนาย จักรพล ผลละออ นักกิจกรรม IMT นายคณิน ฉินเฉิดฉาย สมาชิกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย และนายศุภวิชญ์ วุฒิ นักกิจกรรมการเมือง ร่วมให้ความเห็น ท่ามกลางผู้สนใจเข้ารับฟังกว่า 500 คน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เจอกับคนรุ่นใหม่ ในฐานะกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในโลกยุคต่อไป เท่าที่ทราบคือคนรุ่นใหม่ ต้องการความมั่นคงในชีวิต จบไปแล้วมีงานทำ สามารถสร้างตัวได้ สอดคล้องกับแนวนโยบายของพรรค ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปิดทุกโอกาสให้คนไทย ต้องมีรายได้โดยสุจริต ทางพรรคมีแนวคิด ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง หรือการไปช่วงชิงอำนาจมาจากมือใคร เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น กว่าจะได้บทสรุปต้องใช้เวลานานมาก คนไทยคงรอไม่ได้
คำว่า ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เป็นการไปแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังโบราณคร่ำครึไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ลดความวุ่นวายของกฎหมาย เปิดช่องทางให้คนไทยทำมาหากิน ขณะที่ส่วนราชการ ต้องสนับสนุนการประกอบอาชีพของประชาชน มิใช่ว่า กว่าจะตั้งโรงงานได้ ต้องไปขอใบอนุญาตเป็น 10 ใบ หรือพอประชาชนค้าขายดี ก็ส่งคนไปตามตรวจสอบ หาทางเก็บเงินประชาชนเพิ่ม แต่มันต้องเป็นยุคที่ค้าขายกันอย่างเสรี ทั้งนี้ การแก้กฎกรอบทั้งหลาย จะต้องให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของพรรค เริ่มมีการเสนอแก้กฎหมายให้ฝ่ายที่รับผิดชอบพิจารณาแล้ว ส่วนจะแก้กฎหมายฉบับไหนบ้าง ต้องขออุบไว้ก่อน แต่รับรองว่าจะทำให้ประชาชนทำมาหากินได้ง่ายขึ้น
“ทางพรรคให้ความสำคัญกับการหารายได้จากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น GRAB หรือ โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ช่วยเติมเต็มช่องโหว่ในธุรกิจการท่องเที่ยว และยังเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ในขณะเดียวกันภาคเกษตรนั้นก็จะมีการนำเอาระบบ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลประโยชน์มาปรับใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ให้ได้รับผลประโยชน์ที่น่าพอใจ ซึ่งระบบนี้ มีมาแล้วในอุตสาหกรรมอ้อย ผ่าน พรบ. อ้อยและน้ำตาล ถ้าอ้อยทำได้ พืชอื่น ก็ต้องทำได้ เรากำลังศึกษาว่า กฎหมายของอ้อยทำอย่างไร จะปรับใช้กับพืชเกษตรอื่นอย่างไรได้บ้าง”
นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากการแก้กฎหมาย เปิดทางเอาระบบ Profit Sharing มาใช้ เราต้องมีกระบวนการเพิ่มราคาผลผลิต ด้วยการสร้างความต้องการในประเทศ ทั้งนี้ ทางพรรค ตั้งเป้าให้พืชของไทยหลายชนิด กลายเป็นพืชพลังงาน และใช้แทนการนำเข้าน้ำมัน โดยมีบราซิลเป็นแบบอย่าง
อาทิ การนำเอาปาล์มมาทำเป็นน้ำมันเติมรถยนต์ และนำมาทำเป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งก็จะช่วยยกระดับราคาปาล์มให้กับเกษตรกร แน่นอนว่า ต้นทุนการผลิตต้องสูงขึ้น แต่เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ และยังช่วยยกระดับอาชีพเกษตรกร อนาคตเราจะมีบ่อน้ำมัน เรียกว่าบ่อน้ำมันปาล์ม
นายอนุทิน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.ว่า เป็นกรณีที่พรรคให้ความสนใจมานานแล้ว เพราะรู้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ตอนนี้ เราคิดเรื่องพักหนี้ ให้ผู้กู้มีโอกาสหาเงินไปใช้หนี้ พร้อมไปกับให้ภาครัฐมีเวลาคิดมาตรการเพิ่มเติม อาทิ ลดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ
“เราเชื่อเสมอว่าผู้กู้ทุกคนมีเจตนาดี แต่บางครั้งอาจจะเกิดอุบัติเหตุชีวิต เราจำเป็นต้องให้โอกาสเขา ขณะเดียวกันต้องหาทางนำเงินกลับเข้าระบบด้วย”
นอกจากนี้แล้ว ต้องไม่มีคนค้ำประกัน ต้องตัดคนค้ำประกันออก เพราะคนเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้อง เจ้าหนี้ต้องไปดำเนินการกับผู้ใช้เงินตัวจริงไม่ควรที่จะมาดำเนินการกับผู้ค้ำประกันที่ไม่ได้มีส่วนในการใช้เงินกู้
ในเรื่องการพัฒนาประเทศ นายอนุทินกล่าวว่า จำเป็นต้องสร้างรากฐานให้ประเทศ ให้เกิดความเข้มแข็ง ให้เงินหมุนในประเทศให้มากที่สุด คนอื่นเชียร์รถไฟความเร็วสูง แต่ตนอยากให้เราพัฒนาคุณภาพของถนน ขยายถนน สร้างมอเตอร์เวย์ ทางยกระดับ เพราะเราสามารถสร้างได้เอง เงินอยู่ในประเทศ แต่รถไฟความเร็วสูง เราต้องอิมพอร์ตเข้ามาหมดเลย ทั้งที่เงินมันควรจะหมุนอยู่ในมือคนไทยสัก 7-8 รอบ ดีกว่าไหลพรวดเดียวออกนอกประเทศหมด ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องไหลออกไปมากขนาดไหน เพราะต้องมีค่าดูแลรักษา ตามมา และไม่รู้ด้วยว่า เมื่อสร้างมาแล้ว จะมีโอกาสไปถึงจุดคุ้มทุนหรือไม่ เพราะค่าบริการสูง คนไทยอาจใช้บริการน้อย ที่สุดแล้วอาจประสบภาวะขาดทุน ส่วนตัวอยากให้เราสร้าง เมื่อเรามีความพร้อม เรามั่นใจแล้วว่าคนไทยมีกำลังในการจ่ายเพื่อแลกกับการบริการ และบวกลบคูณหารแล้ว ไม่ขาดทุน ไม่เป็นภาระการคลัง มิใช่ว่าสร้างมาแล้วขาดทุน เป็นปัญหาในอนาคต
ด้านพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ทุกคนต้องมีการปรับตัวให้ทันกับโลก ในอนาคต ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตรงนี้ นักศึกษาต้องดีลกับอนาคตไม่เป็น ต้องหาโอกาสจากโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นนักกฎหมายว่าคดีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ หมอผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ
นอกจากองค์ความรู้แล้ว เรื่องเทคโนโลยี คนไทยก็ต้องตามให้ทัน ทุกท่านจะต้องศึกษาหาความรู้ ใช้เทคโนโลยีในการทำมาหากิน ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนหมอดูแลคนไข้วันละ 20 คน วันนี้ มันทะลุไปเป็นหลัก 100 มันต้องใช้เทคโนโลยีช่วย
“ในปัจจุบันการทำงาน สามารถทำงานที่ไหนก็ได้เพราะประเทศไทยจะก้าวไปสู่โลกของดิจิทัล เทคโนโลยี ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี นอกจากเพียงเข้าถึง เทคโนโลยี ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับทุกคน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด Sharing Economy ทั้งนี้ ถ้าประเทศไทยเปิดกว้างให้ระบบนี้เติบโต พร้อมไปกับการบริหารจัดการที่เดียว ให้ระบบเก่า ระบบใหม่อยู่ร่วมกัน เราจะมีเงินหมุนเวียนในประเทศอย่างมหาศาล”