พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital transformation) เปิดเผยถึงแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาและการสร้างคนไทยศตวรรษที่ 21 ภายใต้ชื่อ Thailand Sharing University ว่า จากภาพในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าด้วยอัตราเร่ง จึงทำให้รูปแบบการทำงานและอาชีพต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังถูกท้าทายและจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้หากเราไม่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพราะแนวทางและสิ่งที่เราสอนเด็กๆ ไม่สามารถทำให้พวกเขามีความสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรแบบอัตโนมัติและ AI ได้ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ที่การเข้าถึงการศึกษายังถือว่ามีราคาแพง (สำหรับคนยากจนจำนวนมาก) และมาตรฐานการเรียนการสอนที่ไม่ทันโลก ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จากการวิจัยของ World Economic Forum (WEF) พบว่าทักษะที่จำเป็นอย่างมากในศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่มเติมออกมาอย่างเห็นได้ชัดคือ “ทักษะการเข้าสังคมและอารมณ์ (Social & Emotional Skills)” นั่นเอง เนื่องจากมีแนวโน้มว่า อาชีพที่ต้องใช้ social skill มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีความต้องการมากขึ้น ในขณะที่อาชีพที่ไม่ใช้ social skill ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผลการวิจัยยังบอกอีกว่า 65% ของเด็กที่เรียนอยู่ในขณะนี้จะต้องทำงานในอาชีพที่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น ความหมายก็คือ การเรียนในปัจจุบันอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอาชีพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้เองวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมที่มีครูเป็นผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว จึงไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตอีกต่อไป ดังนั้น บทบาทของครูที่เป็น “ผู้ถ่ายทอดความรู้”(Lecturer) จึงต้องถูกเปลี่ยนเป็น “ผู้สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้” (Facilitator) โดยหน้าที่ของครูนั้นจะไม่ใช่การแค่มาสอนในห้องเรียนอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนผ่านการลงมือทำจริง โดยครูเป็นผู้ให้คำแนะนำและแนะแนวทางในวิธีการเรียนรู้ และแนะนำวิธีการวิเคราะห์แทนการสอนแบบเดิมๆ รูปแบบของการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การใช้เกมเป็นเครื่องมือในลักษณะของการฝึกผ่าน workshop ต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน และเกิดการเข้าใจถึงผลลัพธ์ของการทำโครงการ (Project approach) โดยบรรยากาศการเรียนรู้ควรมีความสนุก เพื่อเอื้อต่อประสบการณ์การเรียนรู้เชิงบวก ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวของประเทศไทย สามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด และลงทุนน้อยที่สุดด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ทางออนไลน์ ที่ง่ายดาย ทันสมัย และฟรี เพียงใช้นิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร อยู่ที่ใด และเวลาใดก็ตาม
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวด้วยว่า สถาบันหรืออาจเป็นรูปแบบบริษัทที่สามารถนำเสนอการให้บริการด้านการศึกษาทางเลือกแบบออนไลน์ที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความทันสมัยด้านองค์ความรู้ใหม่ๆ ตามความต้องการของผู้เรียน มีราคาค่าเรียนที่ถูกมาก (หรือฟรี) จะเป็นการพัฒนาการศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ในการสร้างคนไทยในศตวรรษที่ 21 ได้ โดยพรรคภูมิใจไทยได้เสนอแนวคิด Thailand Sharing University ซึ่งเป็นการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ที่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสามารถเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในที่สุดโดยThailand Sharing University จะเป็นแหล่งรวมครูและอาจารย์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐบาล และสามารถนำมาเทียบโอนและรับรองเทียบเท่าการเรียนในระบบของไทยได้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาและทุกสาขาอาชีพร่วมกันสร้างสาระวิชา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน (Sharing) บนระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง และผู้ผลิตสาระวิชาจะได้รับผลตอบแทน (incentive) ในรูปแบบต่างๆ ที่รัฐบาลวางนโยบายไว้อย่างเป็นระบบ และสามารถดึงดูดผู้เรียนและผู้ผลิตสาระวิชาให้เกิดความสนใจในการเข้าร่วมที่สุด