ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ว่า มีสาระสำคัญอยู่ 3 ข้อคือ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งได้ไม่เกินวันที่ พ.ร.ป.ส.ส. มีผลบังคับใช้ คือ 11 ธ.ค.61 จากแต่เดิมที่ กกต.ออกประกาศหลักเกณฑ์ว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จก่อนวันที่ 5 พ.ย.61 แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 10 พ.ย.61 ซึ่งปรากฏว่า กกต.เงียบไป จน คสช.ต้องมี ม.44 ออกมาดังกล่าว เพื่อช่วย กกต.
ข้อ 2. ผลของคำสั่งฉบับนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาที่มีคนร้องเรียนว่า กกต.แบ่งเขตไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่ตัวเองกำหนด และเอาจริงๆ กกต.สามารถแบ่งเขตโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชนหรือคำนึงถึงหลักเกณฑ์เหมือนเดิมก็ได้ เพราะมีข้อความเขียนไว้ในทำนองว่า ถ้าเห็นว่าจำเป็นก็เอาเลย หลังจากนี้เราอาจจะเห็นพื้นที่ตำบลเดียวกัน แต่อยู่คนละเขตกันก็ได้ ประเด็นที่น่ากลัวที่พรรคการเมืองไม่ควรยอมคือ จังหวัดเดิมประมาณ 54 จังหวัดที่จำนวนเขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลงนั้น คำสั่งที่ 16/2561 สามาถไปแตะตรงนั้นได้
“เหมือนจะช่วย กกต.ให้ทำงานให้ทันวันที่ 11 ธ.ค. แต่กลับแฝงเขี้ยวเล็บ ให้ กกต.ตัดสินใจได้เอง โดยไม่ต้องคำนึกถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ”
สำหรับข้อที่ 3 คือเรื่องกระบวนการสรรหาผู้สมัคร สามารถทำได้จนถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง ตรงนี้บางคนตีความว่าเป็นการยกเลิกเกณฑ์คุณสมบัติ 90 วันในการสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ แต่สำหรับตนมองว่าไม่สามารถตีความไปไกลถึงขนาดนั้น แต่หมายความว่า ถ้าเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 วันสุดท้ายที่ผู้สมัครจะหาพรรคสังกัดหรือย้ายพรรคได้คือ 26 พ.ย.61 เหมือนเดิม
ดร.สติธร ระบุว่า ปัญหาอยู่ตรงที่ หาก กกต.ประกาศเขตเลือกตั้งหลังวันที่ 26 พ.ย.61 ซึ่งผู้สมัคร ส.ส.ย้ายพรรคไม่ได้แล้ว แต่ปรากฏว่า กกต.แบ่งเขตไม่เข้าทางตนเอง จึงเปรียบเหมือนการเอานักการเมืองไปล็อกไว้ให้จำยอม ส่งจะส่งผลต่อพรรคการเมืองที่ใช้กลยุทธ์ “แตกแบงค์พัน” หรือพรรคที่ใช้พลังดูดด้วย
“มองได้ว่าอาจเป็นการแก้เกมนักการเมืองโดย คสช. มันมี 2 นัย คือ พอเพื่อไทยเล่นเกมแตกแบงค์พัน พรรคหลักก็ต้องเอาเฉพาะเขต เน้นเก็บเกรดเอเอาไว้ ส่วนพรรคสาขาก็หวังเก็บปาร์ตี้ลิสต์ การแบ่งเขตดีๆ อาจเปลี่ยนเกมตรงนี้ได้ ส่วนนัยที่สองคือ เป้าหมายของฝ่ายผู้มีอำนาจที่ไปดูดอดีต ส.ส.ที่สองที่สามมา หวังเก็บคะแนนบัญชีรายชื่อ แต่ตอนหลังเป้าของพลังประชารัฐไปไกลกว่านั้น นั่นคือหวังจัดตั้งรัฐบาล” ดร.สติธร กล่าว