ดร.พะโยม ชิณวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในฐานะคณะทำงานยุทธศาสตร์ พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยถึงปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู ว่า ปัญหาของหนี้สินครู หากจะมองให้ลึกซึ้งจะพบว่าตัวเลขหนี้สินครูมีตัวเลขที่สูงมาก เนื่องมาจากจำนวนบุคลากรทางการศึกษามีจำนวนมาก เฉพาะครูในระบบ 5 แสนราย และข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 2-3 แสนราย รวมแล้วประมาณ 8 แสนราย ดังนั้นเลยส่งผลให้มีรายงานออกมาว่า ข้าราชการครูเป็นหนี้จำนวนมหาศาล
ขณะเดียวกันการให้กู้เงินก็มีหลายรูปแบบ อาทิ กู้จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. กู้สหกรณ์ครู ธนาคารออมสิน และเงินกู้ ช.พ.ค. หรือการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้ บรรดาบริษัทห้างร้านก็ออกแคมเปญให้ครูกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ส่งผลให้ครูมีหนี้สินเป็นล้นพ้นตัว แต่กระนั้นก็ตามการกู้เงินก็มีข้อจำกัดคือหากกู้จนเหลือเงินเดือนต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นก็หมดสิทธิ์ในการกู้
ดร.พะโยม กล่าวต่อว่า หากรวมมูลหนี้ของบุคลากรทางการศึกษาทุกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบ้านบาท จากจำนวนบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าครูที่เป็นหนี้วิกฤติจริงๆมีจำนวนเพียง 2-3 หมื่นรายเท่านั้น ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เรียกกันว่าหนี้เอ็นพีแอล ที่เหลือเป็นหนี้ที่กู้ไปต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ดังนั้น หากจะมองครูเป็นหนี้ต้องแยกให้ออกว่าเป็นหนี้ประเภทใด
ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ตนในฐานะอดีตผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ มองว่าในการแก้ปัญหานั้นจำเป็นอย่างแรกคือต้องหยุดการสร้างหนี้ ทั้งในระบบและนอกระบบ หลังจากนั้นมาดูว่าหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้จากเหตุใด กู้มาจากไหน เป็นหนี้ในระบบหรือนอกระบบ ก่อนที่จะช่วยแก้ปัญหา ตนมองว่าหากเป็นหนี้ในระบบก็จะแก้ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหากลุ่มหนี้ที่กำลังเกิดวิกฤติในขณะนี้
“ผมเตรียมหารือกับคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย เพื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาปัญหาและแนวทางในการช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรทางการศึกษา อาจจะเอาระบบการแก้ไขหนี้สินของภาคธุรกิจเข้าไปช่วย ทั้งการลดต้นลดดอกเบี้ย ซึ่งผมมองว่าหากเราแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ก็จะส่งผลให้บุคลากรทางการศึกษาของไทยมีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.พะโยม กล่าว