นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“กรมบัญชีกลางประกาศราคากลางให้รัฐบาลทำบันทึกข้อตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก่อสร้างถนนตำบลละ 10 กิโลเมตร กว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ จะใช้ยางพารา 350,000 ตันตามน้ำหนักยางแห้ง หากรัฐบาลประกาศภายในเดือนธันวาคมนี้และมีการจับมือกันระหว่าง อบจ.และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัด เพื่อให้เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัด จัดหาน้ำยางสดมาทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เชื่อว่าราคายางจะขยับสูงขึ้นทันที”
“ส่วนใครจะแจกเงิน ก็ตามสบายครับไม่ขัดคอใคร พูดมากเจ็บคอ แต่มีพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ขึ้นข้อมูลไว้ 300,000 ครัวเรือน พื้นที่ 5 ล้านไร่ และที่ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลก็ยังมีอีกมาก ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้เขาคงออกมาเคลื่อนไหวเอง” นายสุนทร
ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ย.61 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือช่วยสวนยางเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง วงเงิน 18,604.95 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ แบ่งจ่ายกับเจ้าของสวน 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีด 700 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ โดยมาตรการดังกล่าว เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย ที่มีพื้นที่เปิดกรีดยางจำนวน 999,065 ราย คนกรีดยางจำนวน 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่