ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเทรนด์ธุรกิจในอนาคต ว่า ธุรกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing Economy กำลังเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดแบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ เอกชนทั่วโลกต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อสร้างโอกาสทำรายได้แก่เอกชน และประเทศ
แต่สำหรับประเทศไทย เรายังพบปัญหาอยู่ 2 ส่วนใหญ่ คือ 1. ภาคเอกชน เกือบทั้งหมดยังคิดแบบ 1.0 – 2.0 หรือการซื้อมา ขายไป เอากำไร มีประกันหลังการขายบ้าง โมเดลธุรกิจไทยอยู่ในลักษณะแบบนี้มาช้านาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงโดยง่าย
2. ภาครัฐ แม้จะพยายามสนับสนุน ออกนโยบาย 4.0 มา 4 ปีเต็ม สนับสนุน Startup แต่เป็นนโยบายที่กว้างเกินไป มีช่องโหว่ในเชิงปฏิบัติอยู่มาก ไม่มีการลงลึกให้เห็นเป็นโมเดลธุรกิจซึ่งมีความเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เข้าใจได้ว่า รัฐยังกล้าๆกลัวๆ เพราะกังวลเรื่องคะแนนนิยม เพราะการสนับสนุนสิ่งใหม่ ย่อมกระทบกับสิ่งเดิม อาทิ Grab ต้องปะทะ กับ แท็กซี่ AirBNB ต้องปะทะกับ โรงแรม แต่โลกกำลังไหลไปทางธุรกิจแบ่งปัน จึงเป็นความท้าทายของฝ่ายรัฐว่าจะทำอย่างไร ให้ธุรกิจใหม่เติบโต และธุรกิจเก่าสามารถปรับตัวไปได้ เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ ขณะเดียวกัน ต้องไม่ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงพรรคภูมิใจไทย ที่ร่างกฎหมายคุ้มครอง Grab และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ว่า ดีใจที่พรรคการเมืองนำเรื่องนี้มาพูดมากขึ้น เพราะถ้าฝ่ายการเมืองพูดแล้ว ต้องรับผิดชอบกับคำพูด เมื่อโอกาสมาถึง ต้องทำ สำหรับพรรคภูมิใจไทย ที่ไปไกลถึงขั้นร่างกฎหมาย ก็สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม การทำให้ Grab เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ถือเป็นการให้ตัวตนแก่เขา ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การให้บริการ ต้องมีการเข้าไปควบคุมการให้บริการของ Grab ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย
“ส่วนตัวสนับสนุนธุรกิจแบ่งปันทุกชนิด เพราะเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางคนเดียว หรือการเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก มีอิสระในการตัดสินใจ ซึ่งธุรกิจแบบแบ่งปัน จะตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากกว่า โดยเฉพาะกับประเทศไทย จะพบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีน เริ่มเปลี่ยนเทรนด์เป็น Backpacker มากขึ้น อยากค้นหาสิ่งใหม่ ที่นักท่องเที่ยวรุ่นเก่าไปไม่ถึง เขาไม่ต้องการพักโรงแรม แต่ต้องการพักร่วมกับชุมชน ตรงนี้เอกชน และรัฐไทย ต้องก้าวให้ทัน”