กำลังจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง การเมืองไทยคึกคักเป็นลำดับ ทุกพรรคเปิดตัวนักรบ พร้อมลุยศึกชี้ชะตาประเทศ ซึ่งด้วยกฎกติกา การได้แต่ละเสียงนั้นยากเย็นแสนเข็ญ เพราะเขตลดลง แถมบัตรมีใบเดียว สู้กันไฟแลบ
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางพรรคที่รอกวาดเสียงสวรรค์ คว้า ส.ส.เกิน 30 ที่นั่ง เป็นกลุ่มพรรคระดับ “พี่ใหญ่(Big brother)” ที่รอกำหนดอนาคตการเมืองไทย
พรรคเพื่อไทย พรรคขวัญใจมหาชน ครั้งที่แล้วมี ส.ส.ทะลุ 260 เสียงแบบชิวๆ แต่คราวนี้ งานไม่หมู มิใช่เพราะระบบการเลือกตั้ง แต่เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยต้องเสียนักรบฝีมือดีไปจำนวนมาก
มากเสียจนไม่อยากเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะมีสมาชิกถึง 75 คนย้ายหนีพรรค และมีถึง 39 คน ที่ย้ายไปสังกัดฝ่ายตรงข้าม อย่างพลังประชารัฐ ขณะที่ 28 คนย้ายไปสังกัดพรรคเครือข่าย แต่ก็มีเพียง 19 คนที่สังกัดอยู่ในพรรคสายตรง หรือ ไทยรักษาชาติ
สาเหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเสียเลือด ด้วยพรรคเลือกกลยุทธ์ แยกกันเดิน รวมกันตี โดยแบ่งอดีต ส.ส.บางคนไปเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์กับไทยรักษาชาติ ในขณะที่จำนวนหนึ่งย้ายร่วมพรรคขนาดกลาง เพราะต้องการโอกาสในการลงสู้ศึกในฐานะตัวจริง บ้างต้องการเอาตัวถอยห่างจากความขัดแย้งชนิดฝังราก
และเกือบครึ่งย้ายไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ด้วยแว่วว่า พรรคเพื่อไทยปล่อยปละละเลย ครอบครัวผู้ต้องคดี บ้างมีหนี้สินอันเกิดจากการต่อสู้ แต่ไร้การเหลียวแล คนกลุ่มนี้ จำเป็นต้องหาโอกาสปลดเปลื้องพันธนาการ นำมาซึ่งการย้ายพรรคไปอยู่ขั้วตรงข้ามในที่สุด
นับตัวคนการเมืองในพรรคเพื่อไทย หากยุทธศาสตร์คือการโกยแต้มเขต ยังนับว่าแกร่ง ทั้งคนอยู่เดิม และกระแสสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยลบที่ถาโถม เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย ไปไม่ถึงเป้า 220 แน่นอน
พลังประชารัฐ เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ แต่ใช้สูตรการเมืองเดิมยุคปี 2534 หรือ “สามัคคีธรรมโมเดล” คือเปิดท่อดูดนักการเมืองเข้าพรรค ด้วยมีกระสุนพร้อม ขณะที่กระแสยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย อย่างไรก็ตามด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกคะแนนเป็นของมีค่า การได้ตัวนักการเมืองเก่ามาสังกัด ย่อมเป็นเรื่องดีงามพระรามแปด ยิ่งการได้นักรบของฝ่ายตรงข้ามมาร่วมศึก เสมือนได้กำไรหลายต่อ ชื่อชั้นของนายอำนยวย คลังผา, ตระกูลเร่งสมบูรณ์สุข, กลุ่มนายวราเทพ รัตนากร ไว้ใจได้แน่นอน
กระนั้น เป้าที่พรรคพลังประชารัฐ วาดฝันไว้ว่าจะได้เสียงทะลุ 100 เป็นเรื่องที่ไกลเกินไป เพราะอย่าลืมว่า นักการเมืองทั้งหลายที่เคยเป็น ส.ส.นั้น ก็เมื่อครั้งอิงชื่อพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย จึงคาดเดาลำบากเหลือเกินว่าการย้ายมาพลังประชารัฐ พวกเขาจะพกคะแนนมาด้วยหรือไม่ แถมพรรคพลังประชารัฐ ก็มิต่างจากตำบลกระสุนตก เพราะเป็นตัวแทนของรัฐบาล ซึ่งทุกพรรคต้องรวมหัวกันวิพากษ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว อาจเกิดเป็นกระแสชิงชังทั่วพื้นที่ เมื่อบวกกับผลงานของรัฐบาลที่ยังน่ากังขา การได้ ส.ส.เข้าสภาสัก 70 คน ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จมากโข
พรรคภูมิใจไทย เลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือความเจ็บช้ำระกำทรวง เพราะได้มาเพียง 34 ที่นั่งในสภา พรรคภูมิใจไทยเปลี่ยนตำรารบทันที โดยเฉพาะการได้นายอนุทิน ชาญวีรกูล มากุมบังเหียนพรรค นับเป็นการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ จากที่เลือกข้างผู้มีอำนาจหนุนนำกองทัพ บัดนี้ ขยับมาอยู่ตรงกลาง ใช้ยุทธศาสตร์นโยบาย นำการเมือง ทำการตลาดผ่านแนวทางแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และปฏิเสธโต้วาทีทางการเมืองอย่างเด็ดขาด กลายเป็นความหวังของคนไทยจำนวนไม่น้อย กระทั่งทำให้พรรคมีกระแสในหลายพื้นที่ จากกลุ่มผู้ที่เข็ดขยาดกับปัญหาสีเสื้อ
ดึงดูดให้นักการเมืองจากหลายพรรคมาเข้าร่วมแจม ที่น่าจับตามองคือกลุ่มชาติไทยพัฒนาเก่า อาทิ ตระกูล ไชยเศรษฐ และ ตระกูลปริศนานันทกุล นอกจากนั้นยังมี ดร.โต้ง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ และล่าสุด ได้กลุ่มกรุงเทพ เข้ามาร่วมงาน โดยนายสุวัฒน์ ม่วงสิริ อดีต ส.ส.เขตจอมทองพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงกลุ่มภาคกลาง และกลุ่มภาคใต้ ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับดาวฤกษ์ ในพื้นที่ซึ่งความขัดแย้งเจาะไม่ถึง
ขณะเดียวกัน ยังได้ทีมนักวิชาการมาช่วยสังเคราะห์นโยบายอีกจำนวนมาก อาทิ ดร.พะโยม ชิณวงศ์, ดร.กมล รอดคล้าย, พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
นับว่าเป็นปีทองของพรรคภูมิใจไทย ที่ตั้งเป้าว่าจะส่งให้มากที่สุด อาจครบทุกเขต
ดังนั้น กับเป้าหมาย 40 ที่นั่ง เชื่อว่าภูมิใจไทยทำได้ สบาย สบาย
ต่อกันที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเบอร์ 2 ของประเทศไทยมาช้านาน ฐานเสียงแข็งแกร่งในพื้นที่กรุงเทพ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มาบัดนี้ เสียรังวัดพอสมควร เพราะได้ชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการยึดอำนาจ แต่ข้อดีคือพรรคเก่าแก่มีแฟนคลับ ที่รักและผูกพันอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ ส.ส.เก่าอยู่เกือบจะ “ฟูลทีม” มีตีจากไปเพียง 24 คนเท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อน่ากังวลของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ความเป็นเอกภาพภายในพรรค ที่ขั้วอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับขั้ว กปปส. ยังไม่ลงรอยกันดี
ที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์ที่ต้องประสานรอยร้าว ทำได้เพียงรักษาพื้นที่เดิมสุดชีวิต ขณะเดียวกันต้องรับมือจากศึกรอบด้าน อย่างไรก็ตาม การเป็นพรรคอันดับ 2 เสียงทะลุ 100 ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน
สุดท้ายที่พรรคไทยรักษาชาติ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพรรคลูกของพรรคเพื่อไทย เพราะมีความเชื่อมโยงในหลายส่วนทั้งตัวผู้เล่น และชื่อของพรรคที่พ้องกับชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่รวมสีของพรรค และรูปแบบตัวอักษร พรรคนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์เป็นหลัก แม้จะมีตัวดี เด่น ดัง แต่ก็ได้รับการรู้จักเฉพาะคนที่ตามการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสายอุดมการณ์บ้าง สายนักเคลื่อนไหวบ้าง แต่อาจขายไม่ได้กับกลุ่มชาวบ้านธรรมดาแล้ว บวกลบคูณหาร พรรคไทยรักษาชาติน่าจะได้คะแนนเพียง 35 เสียง เท่านั้น
หากตัวเลขเป็นไปตามนี้ ก็น่าจะพอทราบแล้วว่าหน้าตาของรัฐบาล จะออกมาเป็นอย่างไร
Ringsideการเมือง