ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะสังกัดพรรคการเมืองใดว่า ตอนนี้ยังต้องถามอีกหรือว่าพรรคไหนจะอยู่ในใจท่าน เพราะสิ่งที่แสดงออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าคือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ค่อยๆ แย้มถึงความสนใจทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และต่อให้ไม่สังกัดพรรคแต่ก็เชื่อว่าจะมีชื่อในบัญชีเสนอนายกฯของพรรคนี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม การที่พรรค พปชร.ออกตัวอย่างชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ ก็เป็นดาบสองคม เพราะผลงานที่ผ่านมามีประชาชนหลายคนไม่พอใจ เมื่อรู้ว่าพรรคนี้จะเสนอชื่อเขาก็ยิ่งไม่เลือก รวมถึงการที่ทุกฝ่ายจะเฝ้าจับผิดตลอดเวลา ก็จะเป็นอุปสรรคในการหาเสียง จนถึงขั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักด้วย
ส่วนการที่มีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและจากหลายค่ายถูกพลังดูดเข้าไปนั้น จริงอยู่ที่อาจเหมือนยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย แต่อย่าลืมว่าอย่างน้อยยุคนั้นยังมีอุดมการณ์บางอย่างที่คล้ายกัน แต่ พปชร.เป็นการรวมการเมืองต่างขั้ว จึงต้องดุลอำนาจเรื่องผลประโยชน์กันให้ลงตัว
ดร.สติธร ยังฝากไปถึงพรรคขนาดกลาง อย่างภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนาว่า แม้จะไม่มีเรื่องให้ปวดหัวเหมือนพรรคขนาดใหญ่ แต่มีข้อควรระวังคือต้องได้ไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง ถือว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการเสนอชื่อนายกฯ
ขณะที่บรรยากาศในการเลือก ส.ว.ที่ค่อนข้างเป็นความลับนั้น ดร.สติธร ระบุว่า มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีทำให้ผู้สมัครไม่รู้จักกันเพื่อป้องกันการล็อบบี้โหวต เป็นต้น ส่วนข้อเสียคือเรื่องของความลับ ไม่สามารถตรวจสอบได้ และทำให้คนสงสัยว่ากระบวนการเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ประชาชนมีความคาดหวังต่อ ส.ว.ในการเลือกนายกฯครั้งนี้ว่า ควรเคารพเจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่ อย่าดันทุรังเลือกพรรคที่ไม่ชนะเลือกตั้ง และหลังจากนั้นเมื่อได้นายกฯมาแล้ว ก็ควรทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา หากเป็นนายกฯที่ผู้มีอำนาจสนับสนุน ก็อย่าอวยเกินไป หรือหากได้นายกฯ ที่ไม่ใช่ฝ่ายตนเอง ก็ไม่ควรค้านแหลกทุกเรื่อง