พรรคภูมิใจไทย จัดเสวนา หัวข้อ “อนาคตชาวนาจะเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีประกัน ไม่มีจำนำ” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง, ดร.กิจษารธ อ้นเงินทยากร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง, และ นายวิจิตร เกษมสุข เกษตรกร จ.อ่างทอง โดยมี “ทิดเป้” หรือ นายอภิวัฒน์ จ่าตา เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวเปิดการเสวนา ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มอบหมายให้ ดำเนินการจัดเวทีเสวนาแก้ปัญหาราคาข้าว จากก่อนหน้านี้ ที่เคยจัดเสวนาหาทางแก้ปัญหาอื่นๆ ตั้งแต่ GRAB กองทุนให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ การประมง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาของเกษตรกรชาวนาไทย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะชาวนาถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีจำนวนมาก พื้นที่ของประเทศไทยมีการปลูกข้าวในหลายจังหวัด มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องมากกว่า 4 ล้านครอบครัว หรือ ประมาณ 12 ล้านคน คำพูดที่ได้ยินมาเสมอ คือ “ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพง” เป็น ภาพสะท้อนที่พบเห็นมาโดยตลอด ขณะเดียวกันเกษตรกรชาวนายิ่งทำยิ่งขาดทุน ที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นว่า มี โรงสี หรือ ผู้ส่งออกขาดทุน นอกจาก ชาวนา ที่มีแต่จนลง และ จนลง รัฐบาลที่ผ่านมามีความพยายามจะแก้ไขปัญหาราคาข้าว แต่ยิ่งทำก็ยิ่งมีปัญหา และ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง กำหนดไม่ให้ นำระบบ การประกันราคา และ จำนำข้าว มาใช้ได้อีก ดังนั้น จึงไม่สามารถ เสนอโครงการใดๆ ที่จะใช้งบประมาณของรัฐ มาใช้อุ้มเกษตรกรได้อีกแล้ว การนำเสนอระบบแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรมหรือ Profit Sharing จึงถือเป็นทางออกดีที่สุดสำหรับชาวนาไทย
นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง สมาชิกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตัวเลขของผู้ประกอบอาชีพทำนามีประมาณ 3.9 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 12 – 13 ล้านคนทั่วประเทศ นับว่าเป็นกลุ่มประชาชนที่มีพลัง หากคนกลุ่มนี้ อยู่ดี กินดี มีเงินใช้จ่าย ประเทศย่อมได้รับอานิสงค์ไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา เวลาราคาข้าวดี เศรษฐกิจไทยคึกคัก แต่เวลาราคาข้าวตก เศรษฐกิจ ซบเซา ทุกรัฐบาลเห็นความสำคัญของการผลักดันราคาข้าว และทดลองใช้สารพัดวิธีแต่ประสบความล้มเหลว อาทิโครงการจำนำข้าว เกิดปัญหาเงินรั่วไหล ขณะที่การแทรกแซงราคา ขัดกับหลักการของ WTO และไม่ใช่ทางแก้ที่ยั่งยืน
นายภราดร กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทย มีแนวทางแก้ปัญหาอีกแบบ เรียกว่าการแบ่งปันผลกำไร โดยมีตัวอย่างจาก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ประเด็นคือโครงสร้างราคาข้าวมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น หากคลี่โครงสร้างดังกล่าวออกมา จะเห็นองค์ประกอบที่สำคัญประกอบไปด้วย 1. ชาวนา 2. โรงสี 3.ผู้ประกอบการ แบ่งเป็นผู้ค้าส่งออกและผู้ค้าข้าวถุงในประเทศ
เริ่มจากชาวนา มีต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ 6,403 บาทต่อตัน ไม่นับรวมต้นทุนจากการใช้แรงงานและการเช่าที่ บวกค่าขนส่ง 176 บาท รวมแล้วมีต้นทุนต่อตันข้าวเปลือกที่ 6,579 บาท นำไปขายโรงสีได้ตันละ 7,834 บาท มีกำไรต่อตัน 1,255 บาท เมื่อหักลบค่าแรง กับค่าเช่าที่ แทบจะไม่เหลือกำไร
สำหรับกลุ่มโรงสี ต้นทุนการซื้อข้าวเปลือก 7,834 บาท นำมาแปรสภาพและทำการตลาด ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,434 บาท ส่งขายตันละ 9190 บาท ได้กำไร 756 บาท แต่ปริมาณการขายมากว่าชาวนา และส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มธุรกิจเดียวกันน้อยกว่ามาก
สุดท้ายที่กลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งมีไม่กี่เจ้า แบ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าส่งออก มีต้นทุนการรับซื้อที่ 6,854 บาท ราคาขายออกอยู่ที่ 9,085 บาท ต่อตันข้าวเปลือก ได้กำไรต่อตันข้าวเปลือง 2,221 บาท ขณะที่กลุ่มพ่อค้าขาวถุง รับซื้อข้าวมาที่ตันละ 7,408 บาท ขายออกเป็นข้าวถุงตันละ 12,820 บาท ได้กำไรสูงถึง 5,412 บาท
จะเห็นความไม่เป็นธรรมของการแบ่งรายได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบระหว่างชาวนา กับกลุ่มพ่อค้า ซึ่งต่างกันประมาณ 4 เท่าตัว ทั้งที่กลุ่มชาวนามีปริมาณคนทำงานมากกว่า นับพัน นับหมื่นเท่า
นายภราดร กล่าวถึงทางแก้ปัญหาว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทย เราใช้กฎหมาย สร้างโมเดลแบ่งปันผลกำไรจากข้าวถุง และข้าวส่งออก โดยมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อให้กู้ยืม ไปทำนา พร้อมไปกับการบริหารจัดการเรื่องกำไร ที่แต่ละฝ่ายสมควรจะได้รับ หรือ เกษตรกรได้ 70% โรงสีได้ 15% และผู้ประกอบการได้ส่วนแบ่งกำไร 15% ขณะเดียวกันกองทุนเบื้องต้นยังมีหน้าที่จัดเก็บเงินเพื่อพยุงสภาพคล่องของกองทุน
วิธีการนี้ จะไม่สร้างภาระทางการคลัง และสร้างความเป็นธรรมให้กับภาคการเกษตร นอกจากนั้น ภาครัฐต้องมีการประกันภัยพิบัติให้กับชาวนาอีกด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง คือสิ่งที่เหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของชาวนา ซึ่งรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ
“หากนำโมเดลของพรรคภูมิใจไทยไปปฏิบัติ ผลผลิตข้าว 1 ตันข้าวขาว ชาวนาจะมีผลกำไร 2,814 บาท โรงสีจะมีกำไร 603 บาท และส่งออกจะมีกำไร 603 บาทเท่ากัน ขณะที่ผลผลิตข้าวห้อมมะลิ ชาวนาจะมีกำไร 8,900 บาท โรงสีจะมีกำไร 1,907 บาท เช่นเดียวกับฝ่ายผู้ประกอบการ เหล่านี้คือโมเดลเบื้องต้นของพรรคภูมิใจไทย เพื่อแก้โจทย์เรื่องห้ามประชานิยม ห้ามกระทบกับวินัยการคลัง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน”
ด้าน ดร.กิจษาธร อันเงินทยากร นักวิชาการจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมข้าวไทย ว่า กระทรวงเกษตรดูแลพืชเกษตรทุกชนิด สำหรับข้าว เป็นพืชเกษตรที่กระทรวงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 65.9 ล้านไร่ สอดคล้องกับความต้องการบริโภคข้าวจากไทยและทั่วโลก ปัจจุบันไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 24%
ด้านนายวิจิตร เกษมสุข ชาวนาจังหวัดอ่างทอง ให้ความเห็นว่า ชาวนาเป็นอาชีพที่ยิ่งทำยิ่งจน ในอดีตเราทำนาบนที่ตัวเอง แต่วันนี้เราต้องเช่าที่เขา เพราะที่เราถูกนายทุนซื้อหมด ชาวนามีความรู้เรื่องทำนา แต่รัฐบาลบอกให้ไปปลูกพืชน้ำน้อย ชาวนาจึงไม่ได้ใช้ความถนัดในการทำมาหากิน แถมปลูกพืชน้ำน้อย ไม่ได้ เพราะในพื้นที่ ไม่มีน้ำ
กลับมาที่แนวทางของพรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะเป็นการให้ชาวนาได้มีส่วนร่วมกับผลผลิตปลายทาง ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้เงินกลับมามากขึ้น และยังเป็นการผลักดันให้ชาวนาปลูกข้าวมีคุณภาพ ตรงความต้องการของตลาด แทนที่การปลูกเน้นปริมาณ ซึ่งเป็นการทำลายคุณภาพข้าวไทย
นอกจากนั้น ต้องการให้มีการเปิดโรงเรียนชาวนา ให้ชาวนามีความรู้ รู้เรื่องการแปรรูปผลผลิต อาทิ น้ำนมข้าว เป็นต้น และเพื่อไม่ให้ชาวนาถูกโกง ปัจจุบัน เวลาไปตรวจข้าว บางครั้งโรงสีเอามือมากอบข้าว ให้ค่าความชื้นขึ้น กดราคาข้าวชาวนา
ด้านนายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ส่วนตัว ให้ความสำคัญกับความอยู่ดี กินดีของชาวนา จะทำอย่างไร ให้ชาวนามีที่ดินเป็นของตนเอง ต้องการให้มีกฎหมายช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม อาทิ พระราชบัญญัติข้าว แล้วบรรจุแนวทางที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ เข้าไปอยู่ในพระราชบัญญัติ พร้อมกับกับการตั้งธนาคารที่ดิน ให้ธนาคารไปซื้อที่ดินคืนจากนายทุน แล้วปล่อยเช่า หรือขายต่อราคาถูกแก่ชาวนา
นอกจากนั้น ยังต้องแก้ในเรื่องของระบบชลประทาน ให้ทุกที่มีน้ำใช้ทำการเกษตร ขณะที่โรงสี ต้องเข้ามาแนะนำชาวนาว่าปีนี้ต้องปลูกพันธุ์อะไร ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงสี ซึ่งโรงสีทราบอยู่แล้ว เนื่องจากต้องการข้าวให้ผู้ค้า
สุดท้าย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนท้ายงานเสวนาว่า ทางพรรคได้หาแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าวมานานแล้ว 4 ปีที่ผ่านมา เราช่วยกันคิดอยู่ตลอด จนตกผลึกที่เรื่องของแบ่งปันผลกำไร โดยดูจากอุตสาหกรรมอ้อย ที่จะกำหนดเวลาว่าแต่ละปีควรจะปลูกจำนวนเท่าไร เพื่อนำไปทำอะไร และแต่ละฝ่ายได้กำไรคืนมาเท่าไร ให้ทุกฝ่ายพอใจ ถ้าอ้อยทำได้ ข้าวก็สมควรต้องทำได้
กุญแจของความสำเร็จสำหรับเรื่องนี้คือกฎหมาย เราจำเป็นต้องนำกฎหมายไปบังคับใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับพี่น้องเกษตรกร วิธีการคือนำกำไรจากข้าวถุง และข้าวส่งออกมารวมกัน แล้วหากำไรรวมก่อนแบ่งไปยังภาคส่วนต่างๆ ตามแต่การลงทุนของแต่ละฝ่าย ให้เกิดผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุน ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของเกษตรกรชาวนา โรงสี และผู้ประกอบการ หากทำสำเร็จ ราคาทั่วไปจะขยับขึ้น 2 – 3 บาทต่อกิโลข้าวเปลือก ขณะที่ข้าวหอมมะลิจะขยับขึ้น 5-8 บาทต่อกิโลข้าวเปลือก
ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องแบ่งปันผลกำไรข้าว ทางพรรคเชื่อว่าสามารถทำได้จริง ปัจจุบัน มีการร่างกฎหมายรอไว้แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงให้ดีที่สุด และจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ของพรรคภายใน 2 อาทิตย์ หลังจากนี้ ต้องการให้ประชาชนเข้ามาติชม และแสดงความคิดเห็นเพราะเราต้องการให้ทุกกฎหมายของพรรค มีส่วนร่วมโดยประชาชนทุกคน